เครื่องไสเพลาะ (jointer)  วัตถุประสงค์ก็เพื่อใช้ไสขอบทางด้านข้างของแผ่นไม้ไห้เรียบก่อนที่จะเพลาะไม้เข้าด้วยกัน นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ไสหน้าไม้ ไสหัวไม้ ไสเอียงหรือไสเผล่ ไสลบมุม ไสเรียว หรือไสเพื่อทำบังใบเป็นต้น การไสไม้ขนาดเล็กอาจใช้กบไฟฟ้าแทนเครื่องไสเพลาะก็ได้โดยการหงายกบขึ้น ก็สามารถไสไม้ได้ตามความต้องการปกติเครื่องไสเพลาะจะใช้ไสขอบไม้ให้ตรงและได้ฉากก่อนที่จะนำไปไสด้วยเครื่องไสความหนาให้ได้ขนาดตามความต้องการเครื่องไสเพลาะ เป็นหนึ่งในเครื่องจักรงานไม้ที่ถูกใช้บ่อยที่สุดในโรงงาน

ขนาด
            ขนาดของเครื่องไสเพลาะจะกำหนดจากความยาวของใบมีดที่ใช้ ขนาดที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปกับสถานศึกษาได้แก่ ขนาดตั้งแต่ 4นิ้ว (100 มิลลิเมตร) ไปจนถึง 16นิ้ว (400มิลลิเมตร) โดยจะเพิ่มขึ้นขนาดละ 2นิ้ว (50 มิลลิเมตร) แต่ที่นิยมกันมากทั่วไปที่สุดได้แก่ ขนาด 6นิ้ว (150มิลลิเมตร) และ 8นิ้ว (200มิลลิเมตร) ขนาดที่สูงกว่านี้นิยมนำไปใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเรือน สำหรับความเร็วในการทำงานของเครื่องอยู่ระหว่าง 3600 ถึง 4000 รอบต่อนที ความยาวของแผ่นจะมีผลต่อการใช้ประโยชน์ของเครื่องไสเพลาะด้วยเช่นกัน เนื่องจากแท่นที่ยาวจะรองรับไม้ได้ดีกว่าแท่นที่สั้น
ส่วนประกอบที่สำคัญ
โครงหรือฐานเครื่อง
โครงหรือฐานเครื่อง (frame or base) เป็นที่รองรับส่วนประกอบทั้งหมดของเครื่องไสเพลาะ

 

แท่นเครื่อง
แท่นเครื่อง (table) เป็นส่วนที่ใช้รองรับชิ้นงาน ประกอบด้วยแท่นหน้า และแท่นหลัง โดยที่แท่นหน้าจะทำหน้าที่รองรับชิ้นงานที่ป้อน ขณะที่แท่นหลังจะทำหน้าที่รับชิ้นงานที่ผ่านการไสแล้ว ในเครื่องไสเพลาะส่วนใหญ่แท่นทั้ง 2 นี้สามารถปรับตั้งได้ โดยที่แท่นหน้าใช้ในการปรับระดับความลึกในการไส ขณะที่แท่นหลังใช้ปรับเพื่อการไสเรียว อย่างไรก็ตาม ก็มีบางเครื่องที่แท่นหน้าเท่านั้นที่สามารถปรับขึ้น – ลงได้ โดยทั่วไปแท่นหลังจะต้องปรับให้อยู่ในระดับเดียวกันกับระดับความสูงของใบมีดที่หัวตัด
หัวตัดและใบมีด
หัวตัด (cutter head) จัดเป็นหัวใจของเครื่องไสเพลาะ เพราะหัวตัดจะเป็นที่สำหรับติดตั้งใบมีดซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ตัดหรือไสชิ้นงานให้เรียบ หัวตัดจะถูกรองรับไว้ด้วยตลับลูกปืนจำนวน 2 ตัว จึงสามารถทำให้หมุนทำงานได้ ความเรียบของชิ้นงานหรือไม้ที่ไสแล้วนอกจากจะขึ้นอยู่กับความเร็วในการป้อนชิ้นงานแล้ว ยังจะขึ้นอยู่กับความเร็วรอบของหัวตัด ความคมและจำนวนใบมีดอีกด้วย โดยทั่วไปหัวตัดจะหมุนด้วยความเร็วตั้งแต่ 3600 ถึง 4000 รอบต่อนาที
สำหรับใบมีด (knife) ที่ใช้จะมี 3 ถึง 4 ใบ ใช้ตัดหรือไสชิ้นงานให้เรียบ ในการติดตั้งใบมีดเข้ากับหัวตัด จะต้องให้คมมีดอยู่ระดับเดียวกันทั้งหมด ชิ้นงานที่ตัดหรือไสจึงจะเรียบเสมอกัน
มอเตอร์
มอเตอร์ (motor) เป็นส่วนที่ใช้ในการขับหัวตัดให้หมุนเพื่อตัดเพลาะชิ้นงาน กำลังของมอเตอร์ขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องไสเพลาะ

รั้ว
รั้ว (fence) จะทำหน้าที่รองรับชิ้นงานที่ป้อนผ่านเครื่องไสเพลาะทางด้านข้าง การความคุมบังคับชิ้นงานที่ป้อนของผู้ปฏิบัติงานประกอบกับการควบคุมชิ้นงานด้วยรั้วจะมีผลทำให้งานที่ทำออกมาเรียบร้อยและถูกต้องตามความต้องการรั้วสามารถที่จะเปลี่ยนปรับเลื่อนไป-มาทางขวางบนแท่นเครื่อง และยึดให้อยู่ในตำแหน่งใดๆก็ได้ แต่ตำแหน่งที่ควรยึดควรจะห่างจากขอบเขตของแท่นเครื่องเท่ากับความกว้างของชิ้นงานหรือไม้ที่จะไส นอกจากนั้นยังสามารถปรับทำมุมต่างๆได้อีกด้วย ปกติจะสามารถปรับทำมุมได้ถึง 45 องศาทั้ง 2ทางจากแนวดิ่งซึ่งมุมที่ปรับจะเป็นตัวกำหนดมุมของขอบชิ้นงานหรือไม้ที่ไส
ฝาครอบป้องกันอันตราย
ฝาครอบป้องกันอันตราย (guard) เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ครอบหัวตัดเพื่อป้องกันอันตราย มิให้เกิดกับผู้ปฏิบัติงาน ฝาครอบป้องกันอันตรายสามารถที่จะเหวี่ยงตัวออกทางด้านข้างหรือด้านบนก็ได้ ฝาครอบนี้ปกติจะแนบชิดกับรั้วด้วยแรงกดของสปริง ในการทำงานส่วนใหญ่ยกเว้นการทำยังใบหรือการไสเรียวควรทำในขณะที่ฝาครอบป้องกันอันตรายอยู่ในที่เสมอ
มือหมุนปรับแท่น
มือหมุนปรับแท่น (adjusting hand wheel) จะประกอบด้วยมือหมุนปรับแท่นหน้า และมือหมุนปรับแท่นหลัง โดยมือหมุนแท่นหน้าจะทำหน้าที่ในการปรับเลื่อนแท่นหน้าขึ้น – ลง เพื่อปรับระดับความลึกในการตัดหรือไสของหัวตัด ขณะที่มือหมุนปรับแท่นหลังจะทำหน้าที่ในการปรับแท่นหลังขึ้น – ลง เพื่อการไสเรียวหรือป้องกันไม่ให้ปลายไม้ที่ไสแหว่งจากกานตัดหัวของหัวตัด

สเกลบอกความลึกการไส
สเกลบอกความลึกการไส (depth of cut scale) เป็นตัวเลขที่บอกระดับหรือความลึกในการตัดหรือไสของหัวตัด ใช้ในการตั้งระดับความลึกในการตัดหรือไสของหัวตัด
สเกลบอกความเอียงรั้ว
สเกลบอกความเอียงรั้ว (tilt scale) เป็นตัวเลขที่บอกระดับความเอียงของรั้วเป็นองศาใช้ในการตั้งความเอียงของรั้วเมื่อต้องการไสเอียง หรือไสเพล่
ก้านควบคุมรั้ว
ก้านควบคุมรั้ว (fence control handle) เป็นก้านที่ใช้ควบคุมบังคับรั้วและยึดรั้วให้แน่นกับแท่นเครื่อง สำหรับการตั้งความเอียงของรั้วเมื่อต้องการไสเอียงหรือไสเผล้และยึดรั้วให้แน่นหลังการตั้ง
แท่นเสริมทำบังใบ
แท่นเสริมทำบังใบ (rabbeting ledge) เป็นแท่นเสริมรองรับไม้เพื่อทำบังใบ
สวิตช์
สวิตช์(switch)ใช้สำหรับเปิด–ปิดเพื่อควบคุมการทำงานของมอเตอร์หรือเครื่องไสเพลาะ
กฎแห่งความปลอดภัย
กฎแห่งความปลอดภัยในการใช้เครื่องไสเพลาะมีดังนี้
1.รักษาใบมีดให้คมอยู่เสมอ ใบมีดที่ทื่อมีแนวโน้มที่จะทำไห้ไม้ที่ไสเกิดการตีกลับและผิวไม้ที่ไสไม่เรียบ
2.ปรับรั้วก่อนไสทุกครั้ง และหลังการปรับจะต้องยึดรั้วให้แน่น การปรับรั้วขณะที่เครื่องกำลังทำงานอาจทำไห้ได้รับอันตรายได้
3.ปรับระดับความลึกในการไสทุกครั้งก่อนเดินเครื่อง
4.ดูว่าฝาครอบป้องกันอันตรายอยู่ในที่หรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานหรือไม่ ถ้าฝาครอบป้องกันอันตรายมาตรฐานถูกถอดออก จะต้องใส่ฝาครอบป้องกันอันตรายเฉพาะงานเข้าแทนที่เสมอ
5. ขณะทำงานจะต้องระมัดระวังไม่ให้มืออยู่ใกล้กับหัวตัดอย่างน้อยกว่า 4 นิ้ว (100 มิลลิเมตร) แม้จะมีฝาครอบป้องกันอันตรายอยู่แล้วก็ตาม
6.ปล่อยให้เครื่องเดินเต็มความเร็วเสียก่อนทุกครั้งก่อนเริ่มใช้งาน
7. ตรวจสอบไม้ที่จะนำมาไสเช่น ตาไม้ การแตกร้าว อนุภาคโลหะและอื่นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจทำไห้ใบมีดหรือไม้ที่ไสเกิดความเสียหาย หรืออาจทำให้ไม้ที่ไสเด้งออกมาจากตัวเครื่องทำให้เกิดอันตรายได้
8. การไสไม้ที่โค้งเว้า ให้ไสด้านที่โค้งเว้าเสียก่อน
9.ขณะทำการป้อนไม้ (สำหรับคนถนัดขวา) ให้มือซ้ายอยู่บนปลายทางด้านหน้าของแผ่นไม้ที่ไสเสมอ
10. ขณะปฏิบัติงานให้เดินออกมาทางด้านข้าง ห้ามยืนทางด้านหลังของตัวเครื่องโดยเด็ดขาด เพราะในกรณีที่ไม้ตีกลับผู้ปฏิบัติงานจะได้มีความปลอดภัย
11. ในการไสไม้ให้ไสไปตามเสี้ยนไม้ ดังนั้น ในการป้อนไม้เข้าสู่หัวตัดจึงต้องสวนทิศทางกับเสี้ยนไม้เสมอ การไสย้อนเสี้ยนไม้จะทำให้ไม้เกิดการเสียหายได้
12. กรณีไม้ที่ป้อนเข้าสู่ตัวเครื่องเป็นไม้ที่บางหรือสั้นกว่ากำหนด ให้ใช้ไม้ดันชิ้นงาน หรือแท่งดันชิ้นงานแทนการใช้มือเสมอ
13. ไม้ที่ไสจะต้องหนากว่า 3/8 นิ้ว (10มิลลิเมตร) และยาวไม่น้อยกว่า 12 นิ้ว (300 มิลลิเมตร)
14. การไสแต่ละครั้งจะต้องไม่ไสมากจนเกินไปการไสขอบไม้ต้องไสไม่เกินครั้งละ 1/8นิ้ว (3 มิลลิเมตร) การไสหน้าไม้ต้องไสไม่เกินครั้งละ 1/16 นิ้ว (2มิลลิเมตร) ยกเว้นการทำบังใบ
15. ต้องไม่ไสหัวไม้ที่กว้างน้อยกว่า 8 นิ้ว (200มิลลิเมตร)
16. ต้องไม่ไสไม้ที่หน้าแคบกว่า 1 นิ้ว (25 มิลลิเมตร)
17. อย่ากดไม้ที่ไสบริเวณหัวตัดมากเกินไปเพราะอาจพลาดทำไห้รับอันตรายได้
18. การทำความสะอาดแท่นไสให้ใช้แปรงปัดแทนการใช้มือ ก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายจากจากใบมีดตัดของเครื่องได้
19. หลังเสร็จงานและปิดสวิตช์เครื่องไสแล้ว ให้รอจนกว่าเครื่องไสจะหยุดทำงานแล้วจึงค่อยออกจากตัวเครื่อง
การปรับเครื่องไสเพลาะ
การปรับเครื่องไสเพลาะที่สำคัญเพื่อให้เครื่องสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำแนกออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปรับแท่นหลัง การปรับแท่นหน้า การปรับตำแหน่งรั้ว
การปรับแท่นหลัง
หลังของแท่นหลังจะต้องอยู่ในระดับเดียวกันกับจุดสูงสุดของใบมีดเมื่อหมุนมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของใบมีดมากเกินไป ปลายไม้ไสพ้นแท่นหน้ามาแล้วก็ตกลงบนใบมีด ทำให้ปลายถูกตัดมากเกินไปทำให้แหว่ง แต่ถ้าแท่นหลังอยู่ในระดับที่สูงกว่าจุดสูงสุดของใบมีดมากเกินไปไม้ที่ไสก็จะเรียว การปรับตั้งแท่นหลังที่ถูกต้องจะทำให้ไม้ที่ไสเรียบเสมอกัน
เพื่อที่จะปรับระดับของแท่นหลังให้พอดีกับใบมีด ให้หมุนหัวตัดจนกระทั่งใบมีดใบไดใบหนึ่งมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุด จากนั้นให้คลายสกรูล็อกแท่นที่อยู่ทางด้านข้างของตัวเครื่องแล้วหมุนไปที่ปรับลดแท่นหลังลงจนกระทั่งแท่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าใบมีดเล็กน้อย จากนั้นวางบรรทัดเหล็กลงบนแท่นหลังโดยปล่อยให้ปลายอีกด้านหนึ่งของบรรทัดยื่นออกไปในตำแหน่งเหนือใบมีด แล้วจึงหมุนปรับแท่นหลังขึ้นช้าๆจนกระทั่งแท่นหลังอยู่ในระดับเดียวกับใบมีดที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุด หมุนหัวตัดช้าๆ ด้วยมือจนกระทั่งใบมีดสัมผัสกับท้องของบรรทัดเหล็กเบาๆ จากนั้นขันสกรูล็อกให้แน่น ปกติหลังจากที่แท่นหลังได้รับการปรับตั้งค่าแล้วก็จะไม่ต้องการปรับตั้งใดๆอีกยกเว้นสำหรับการทำงานอย่างเช่น การลบมุม การเผล้มุม และการทำร่อง กรณีที่เครื่องเป็นแบบที่แท่นหลังไม่สามารถปรับได้ ก็ให้ใช้วิธีปรับตัวหดขึ้น – ลงจนกระทั่งใบมีดอยู่ในระดับเดียวกันกับแท่นหลังก็ได้
ในการปรับแท่นหลังให้หมุนปรับแท่นหลังขึ้นช้าๆจนกระทั่งแท่นหลังอยู่ในระดับเดียวกับใบมีดที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุด หมุนหัวตัดช้าๆ ด้วยมือจนกระทั่งใบมีดสัมผัสกับท้องของบรรทัดเหล็กเบาๆ จากนั้นขันสกรูล็อกให้แน่น
การปรับแท่นหน้า
การปรับแท่นหน้าให้อยู่ในระดับต่ำกว่าใบมีด จะเป็นตัวกำหนดความลึกในการตัดหรือไส ซึ่งความลึกในการตัดหรือไสของเครื่องไสเพลาะจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ
1.ความกว้างของขอบไม้ที่จะไส
2.ชนิดของไม้และรูปแบบของเสี้ยนไม้
3.ความต้องการในการไส (หยาบหรือละเอียด)
ในการปรับแท่นหน้าให้คลายสกรูล็อกแท่นที่ทางด้านข้างของตัวเครื่องออก แล้วหมุนปรับแท่นขึ้น – ลงตามความต้องการ ที่ตัวปรับจะมีเข็มชี้และสเกลที่ใช้บอกระดับความลึกในการตัดหรือไสเป็นตัวเลข ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบตามระยะเวลาเพื่อความแม่นยำในการตัดหรือไส ตามปกติเครื่องไสเพลาะจะได้รับการออกแบบมาให้ตัดหรือไสชิ้นงานแต่ละครั้ง ในปริมาณที่น้อยๆ ประมาณ 1/16 นิ้ว (2มิลลิเมตร) หรือน้อยกว่า

การปรับตำแหน่งรั้ว
สำหรับการทำงานส่วนใหญ่ รั้วจะต้องอยู่ในที่และทำมุมกับแท่นอย่างถูกต้องตามต้องการ ในการปรับรั้วให้คลายลูกบิดหรือก้านที่ยึดตรึงรั้วให้อยู่กับแท่นออก จากนั้นปรับรั้วให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ สำหรับการทำงานตามปกติรั้วจะต้องอยู่ในตำแหน่ง 90องศากับแท่นเสมอ ดังนั้น เพื่อที่จะตรวจดูว่ามุมที่จัดตั้งถูกต้องหรือไม่ก็ให้ใช้ฉากทำการตรวจสอบ ปกติรั้วสามารถจะปรับเลื่อนไป-มาได้ตามขวาง ดังนั้นในการใช้งานจึงไม่ควรให้ใบมีดเปิดใช้งานเกินจำเป็น จึงควรปรับเลื่อนรั้วเพื่อให้ใบมีดที่ใช้ยาวเกินกว่าความกว้างของขอบไม้ที่ไสเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็พอ
รั้วสามารถปรับเอียงไปทางซ้ายหรือขวาได้ถึง45องศา ในการปรับสามารถปรับได้ที่สเกลบอกความเอียงและตรวจสอบได้ด้วยฉากรวมแบบโปรแทกเตอร์เฮดหรือฉากเลื่อนตัวที
การทำงานกับเครื่องไสเพลาะ
เครื่องไสเพลาะ เป็นเครื่องจักรกลงานไม้ที่มีอันตรายสูงมาก เพราะใบมีดจะอยู่ทางด้านล่างซึ่งยากต่อการมองเห็น ดังนั้น ในการไสไม้จะต้องมีไม้ดันชิ้นงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องไสไม้ขนาดเล็ก การใช้มือกดชิ้นงานอาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย การไสไม้ให้ไสไปตามเสี้ยน การไสย้อนเสี้ยน อาจทำให้ไม้เกิดการแตกร้าวได้ ก่อนใช้เครื่องไสเพลาะเพื่อการเพลาะไม้เข้าด้วยกันควรตั้งรั้วให้ได้ฉากเสียก่อน เพราะถ้ารั้วไม่ได้ฉากอาจทำให้ขอบไม้ที่ไสเอียงได้
การไสไม้ที่ถูกวิธีต้องจับไม้ให้แน่นแล้วยืนทางด้านซ้ายของเครื่อง การยืนทางด้านหลังอาจทำให้เกิดอันตรายได้หากเกิดอุบัติเหตุไม้ตีกลับ การตั้งใบมีดควรให้สูงขึ้นมาจากพื้นของแท่นหน้าได้ไม่เกิน 1/32 นิ้ว (1 มิลลิเมตร) กรณีขอบไม้ขรุขระมากก็อาจตั้งใบมีดให้สูงถึง 1/8 นิ้ว (3 มิลลิเมตร) ก็สามารถทำได้
ก่อนการไสไม้แต่ละครั้งควรทดสอบการทำงานของเครื่องให้ดีเสียก่อน การใช้เครื่องที่ชำรุดทำงานจะทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย ก่อนการใช้งานก็ควรศึกษาการทำงานของเครื่องโดยละเอียดเพราะเครื่องไสเพลาะเป็นเครื่องจักรงานไม้ที่มีความอันตรายที่สุด
ข้อกำหนดในการใช้เครื่องไสเพลาะ
ข้อกำหนดในการใช้เครื่องไสเพลาะที่ถูกต้องมีดังนี้
1.ตรวจการตั้งฉากของรั้วและการตั้งแท่นหน้าเพื่อกำหนดความลึกในการไสก่อนเดินเครื่องถ้าเครื่องถูกใช้งานอื่นมาก่อน หลังการปรับให้ทดลองไสดูก่อนทุกครั้ง
2. การปรับระดับความลึกในการไสให้คำนึงสิ่งต่อไปนี้
ปริมาณเนื้อไม้ที่จะไสเช่น หน้าไม้จะไสเพียงเล็กน้อย และไสค่อนข้างมากกับขอบไม้
นิดของเนื้อไม้ที่จะไสเพื่อไห้ได้ผลงานที่ดีที่สุด เช่นไสเพียงเล็กน้อยหรือไสมากกรณีที่เป็นไม้เนื้ออ่อนหรือไสเล็กน้อยในกรณีเป็นไม้เนื้อแข็ง
วัตถุประสงค์ของการไส เช่น ไสค่อนข้างมากสำหรับการไสครั้งแรก และไสเพียงเล็กน้อยสำหรับการตกแต่ง
3. ปรับเปลี่ยนตำแหน่งรั้วตามขวางตามระยะเวลาเพื่อกระจายการศึกหรอของใบมีด
4. ยืนค่อนไปทางด้านซ้ายของตัวเครื่องโดยให้เท้าซ้ายอยู่ทางด้านหน้าและเท้าขวาอยู่ทางด้านหลังภายไต้แท่นหน้า และเคลื่อนตัวตามไม้ที่ป้อน
5. ตรวจสอบการบิด – งอของไม้ก่อนจะนำมาไสทุกครั้งถ้าแผ่นไม้โค้งเว้า ให้ว่างหน้าที่โค้งเว้าลงทางด้านล่างสำหรับการไสครั้งแรกถ้าแผ่นไม้บิดให้สร้างความสมดุลโดยตัดหรือไสมุมที่สูงออกเสียก่อน
2.6.2 การไสหน้าไม้
ลำดับขั้นในการไสหน้าไม้ด้วยเครื่องไสเพลาะที่ถูกต้องมีดังนี้

  1. ตรวจสอบการบิดของแผ่นไม้และทิศทางของเสี้ยนไม้ แน่ใจว่าเครื่องไสเพลาะได้รับการปรับตั้งอย่างถูกต้องแล้ว
  2. วางแผ่นไม้ลงบนแท่นหน้าให้แนบกับพื้นแท่น ให้มือซ้ายกดลงในตำแหน่งมาทางด้านหลังของหัวตัด  ส่วนมือขวาอยู่ในตำแหน่งด้านปลาย กดด้วยแรงกดที่สม่ำเสมอเท่าๆกันทั้ง2มือ
  3. เปิดเครื่องแล้วปล่อยให้เครื่องเดินจนเต็มความเร็ว
  4. ดันแผ่นไม้ไปข้างหน้า เมื่อแผ่นไม้ที่ไสเลยหัวตัดไปแล้วประมาณ ½ ถึง 2 ใน 3 ของความยาวแผ่นไม้ ให้เลื่อนมือซ้ายกดที่ปลายไม้ตำแหน่งอยู่เหนือแท่นหลัง
  5. หลังแผ่นไม้ส่วนใหญ่ผ่านหัวตัดไปแล้วให้เลื่อนมือขวาที่กดแผ่นไม้เหนือแท่นหลังแล้วไสต่อไปจนเสร็จ อย่าวางมือตรงหัวตัดเพราะอาจพลาดทำให้เกิดอันตรายได้

2.6.3 การไสขอบไม้
การไสขอบไม้ เป็นงานที่เครื่องไสเพลาะถูกใช้กันโดยทั่วไปมากที่สุด เนื่องจากเป็นวัตถุประสงค์หลังของเครื่องไสประเภทนี้คือการไสขอบไม้เพื่อเพลาะไม้เข้าด้วยกัน ขอบไม้ที่จะเพลาะเข้าด้วยกันได้อย่างแนบสนิทจะต้องเรียบและได้ฉากกับหน้าของแผ่นไม้ที่จะเพลาะเข้าด้วยกัน
ลำดับขั้นตอนในการไสไม้ด้วยเครื่องไสเพลาะที่ถูกต้อง มีดังนี้
1.ตรวจสอบการได้ฉากของรั้ว สำหรับการทำงานที่ปลอดภัยที่สุดจะเป็นการดีที่สุดถ้าปรับรั้วให้ชิดทางซ้ายของตัวเครื่องเท่าที่จะเป็นไปได้
2. เลือกขอบไม้ด้านที่ดีที่สุด ตรวจสอบทิศทางของเสี้ยนไม้เพื่อป้องกันการไสย้อนเสี้ยน
3. ปรับระดับความลึกในการไสให้ถูกต้อง กรณีที่ขอบไม้ไม่อยู่ในแนวขนานหรือขรุขระมากก็ให้โกรกด้วยเลื่อยวงเดือนให้ได้ขนาดใกล้เคียงกับความต้องการเสียก่อน แล้วจึงนำมาไสต่อด้วยเครื่องไสเพลาะก็จะช่วยให้งานเสร็จเร็วยิ่งขึ้น
4. กดขอบไม้ลงบนแท่นหน้าให้แนบกับพื้นแท่นและแนบกับรั้วอย่างมั่นคง
5. สำหรับคนถนัดขวา ให้ใช้มือซ้ายเป็นตัวนำและมือขวาเป็นตัวดันให้ขอบไม้เคลื่อนตัวเข้าสู่หัวตัด ให้เลื่อนมือซ้ายไปกับไม้ที่ไสจนกระทั่งแผ่นไม้ส่วนใหญ่เคลื่อนตัวไปอยู่เหนือแท่นหลัง จึงเลื่อนมือขวาข้ามหัวตัดไปจับปลายไม้ที่อยู่บนแท่นหลัง ในการปฏิบัติงานอย่าดันไม้ที่ไสให้เคลื่อนที่เร็วเกินไปเพราะจะทำให้เกิดคลื่นที่ขอบไม้ ทำให้ไม้ที่ไสไม่เรียบ
การไสหัวไม้
การไสหัวไม้เป็นงานที่มีอันตรายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไม้ที่กว้างน้อยกว่า 8 นิ้ว (200 มิลลิเมตร) เพราะความเหนียวของเส้นใยไม้จะทำให้ไม้ฉีกได้ การไสในลักษณะนี้จึงต้องตั้งเครื่องให้ไสทีละน้อยๆเท่านั้น
ถ้าขอบทั้งสองด้านของไม้ได้รับการไสปรับสภาพมาแล้วก็ให้ดำเนินการดังนี้
1.ไสบางๆไปตามหัวไม้เป็นระยะประมาณ 1 นิ้ว (25 มิลลิเมตร)
2. กลับแผ่นไม้แล้วไสส่วนที่เหลือจนหมด ขณะทำการไสจะต้องแน่ใจได้ว่าจับไม้ไว้อย่างมั่นคงเหนือแท่นหลังเมื่อสิ้นสุดการไสแล้วทุกครั้ง การไสไปเที่ยวเดียวโดยไม่กลับหัวไม้จะทำให้ไม้ฉีกได้ ถ้าไม้ที่ไสได้รับการปรับสภาพมาเพียงด้านเดียว การไสในลำดับถัดไปให้ไสในด้านตรงกันข้าม และทำเช่นเดียวกันในด้านที่เหลือภายหลัง
การไสเอียงหรือไสเผล้
ลำดับขั้นตอนในการไสเอียงหรือไสเผล้ที่ถูกต้องมีดังนี้
1.ปรับฉากเลื่อนตัวทีไปที่มุมที่ต้องการจะเอียงหรือเผล่ ปกติจะให้เอียงหรือเผล่ที่มุม45องศา
2. ปรับรั้วให้เอียงตามมุมที่ต้องการจะเอียงตามที่กำหนดไว้ในข้อที่ 1 แล้วตรวจสอบความเอียงของรั้วที่ปรับด้วยฉากเลื่อนตัวที
3. ปรับระดับความลึกในการไส ปกติครั้งละไม่เกิน 1/6 นิ้ว(2มิลลิเมตร)
4. เปิดเครื่องแล้วปล่อยให้เครื่องเดินจนเต็มความเร็ว
5. ป้อนไม้เข้าสู่ตัวเครื่องโดยกดด้านไม้ที่เรียบให้แนบกับรั้วเหมือนกับการไสขอบไม้ ไสไปจนกระทั่งเกือบได้ขนาดตามที่ต้องการแล้วจึงปิดเครื่อง
6. ปรับระดับความลึกในการไสเพื่อไสครั้งสุดท้าย ปกติไม่เกิน 1/32 นิ้ว (1มิลลิเมตร)
7. เปิดเครื่องแล้วปล่อยให้เครื่องเดินจนเต็มความเร็วอีกครั้งหนึ่ง
8.ป้อนไม้เข้าสู่ตัวเครื่องเหมือนขั้นตอนที่ 5 แล้วไสไปจนกระทั่งได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว จึงปิดเครื่อง
หมายเหตุ : การเอียงรั้วเพื่อไสเอียงหรือไสเผล้จะคว่ำหรือหงายรั้วก็ได้ ซึ่งจะแล้วแต่ความเหมาะสม แต่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษถ้าต้องทำในลักษณะที่หงายรั้วเพราะจะทำให้พลาดได้ง่าย
การทำบังใบ
ลำดับขั้นในการทำบังใบด้วยเครื่องไสเพลาะที่ถูกต้องมีดังนี้
1.ปรับรั้วให้ระยะห่างระหว่างปลายของใบมีดกับรั้วเท่ากับความกว้างของบ่าที่จะตัดหรือทำบังใบ
2. ลดแท่นหน้าลงให้เท่ากับความลึกของบ่าที่จะตัด ถ้าบ่าที่จะตัดค่อนข้างลึกอาจจำเป็นจะต้องตัด 2 ครั้ง กรณีนี้การตัดครั้งแรกให้ลดระดับของแท่นหน้าลงเพียงครึ่งหนึ่งของความลึกของบ่าที่จะตัด และลดระดับลงเท่ากับความลึกของบ่าที่จะตัดในครั้งที่ 2
3. ถอดฝาครอบป้องกันอันตรายออก กดไม้ลงบนแท่นหน้าให้แนบกับพื้นแท่น และแนบกับรั้วอย่างมั่นคง และดันไม้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าช้าๆ
หมายเหตุ : การยึดแท่งไม้ที่เรียบตรงเข้ากับรั้ว ให้ยื่นคลุมและเลยหัวตัดมาเล็กน้อยที่ระยะความสูงจากแท่นเท่ากับความหนาของไม้ที่จะทำบังใบ ก็จะช่วยให้บังใบที่ทำลึกและเรียบเสมอกัน
การไสเรียว
เครื่องไสเพลาะ จัดเป็นเครื่องไสเรียวที่ดีที่สุกในบรรดาเครื่องจักกลงานไม้ด้วยกัน จึงนิยมนำมาใช้ในการไสขาโต๊ะ – เก้าอี้ของเครื่องเรือนมากที่สุด การไสเรียวจะมีทั้งการไสเรียวช่วงยาวและการไสเรียวช่วงสั้น
การไสเรียวช่วงยาว
การเตรียมการ
ลำดับขั้นในการเตรียมการเพื่อการไสเรียวช่วงยาวด้วยเครื่องไสเพลาะที่ถูกต้องมีดังนี้

  1. ทำเครื่องหมายในตำแหน่งที่เริ่มการเรียวไปโดยรอบไม้ที่จะไส
  2. วางไม้ที่จะไสลงบนแท่นโดยให้ขอบด้านหนึ่งชิดกับรั้ว ให้ตำแหน่งที่เริ่มเรียวอยู่ในแนวเดียวกันกับขอบของแท่นหลัง โดยที่ปลายอีกด้านหนึ่งของไม้จะใสอยู่บนแท่นหน้า
  3. ยึดแท่นไม้อีกชิ้นหนึ่งเข้ากับพื้นของแท่นหน้าโดยให้ขอบของแท่นไม้ที่ยึดชนเข้ากับปลายของไม้ที่จะไส ทั้งนี้เพื่อทำให้ระยะการเรียวคงที่
  4. ปรับระดับความลึกในการไส ปกติไม่ควรเกิน ¼ นิ้ว (6มิลลิเมตร) ถ้าเกินกว่านี้จะต้องไสเกินกว่า 1 ครั้งเพื่อให้ได้ความเรียวพอดี

การไส
ลำดับขั้นตอนในการไสเรียวช่วงยาวด้วยเครื่องไสเพลาะที่ถูกต้องมีดังนี้

  1. เปิดเครื่องไว้แล้วรอให้เครื่องเดินจนเต็มความเร็ว
  2. ค่อย ๆวางไม้ที่จะไสลงบนแท่นโดยให้ปลายไม้ด้านที่ต้องการไสชนเข้ากับแท่งไม้ที่ยึดเข้ากับพื้นของแท่นหน้า ด้านข้างแนบชิดกับรั้ว ค่อยๆลดปลายไม้ด้านที่จะเรียวลงสู่หัวตัด จากนั้นใช้แท่งดันชิ้นงานป้อนไม้เข้าสู่หัวตัด ขณะทำการป้อนไม้ให้ใช้มือซ้ายกดปลายไม้ทางด้านแท่น ขณะนี้ใบมีดจะเริ่มกัดชิ้นไม้ทีละน้อย และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนสิ้นสุดการไส
  3. ทำตามขั้นตอนที่2จนได้ความเรียวตามต้องการ

การไสเรียวช่วงสั้น
ขั้นตอนในการเตรียมการจะเหมือนกับการไสเรียวช่วงยาวทุกประการ จะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยตรงที่วิธีการไส แทนการดันชิ้นงานเพื่อป้อนไม้เข้าสู่หัวตัดกลับเป็นการดึงชิ้นงานผ่านหัวตัด และถ้าใช้แท่งไม้รองชิ้นงานทางแท่นหลังก็จะช่วยให้การรองรับชิ้นงานขณะทำการไสได้ดีขึ้น
การลับใบมีด
ใบมีดของเครื่องไสเพลาะจะต้องคมตลอดเวลาเพื่อให้งานที่ทำออกมาดีมีคุณภาพสูง ใบมีดที่ทื่อหรือบิ่นนอกจากจะทำให้งานที่ทำมีคุณภาพต่ำหรือเกิดความเสียหายแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงานได้อีกด้วย เนื่องจากใบมีดที่ทื่อหรือบิ่นจะทำให้ใบมีดที่ไสสั่นขณะที่ไสอันจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม้ตีกลับได้
การลับใบมีดของเครื่องไสเพลาะมีหลายวิธีมีทั้งวิธีลับโดยไม่ต้องถอดใบมีดออกจากหัวตัดของตัวเครื่อง และวิธีถอดใบมีดออกมาลับข้างนอก วิธีลับโดยไม่ต้องถอดใบมีดออกจากหัวตัดของตัวเครื่องยังแบ่งได้เป็น 3 วิธี คือ วิธีการลับทางแท่นหลัง วิธีการลับทางแท่นหน้า และการลับด้วยเครื่องลับใบมีดโดยเฉพาะ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีการลับในแท่นหน้าซึ่งเป็นวิธีง่ายที่สุด และหินที่ใช้ในการลับก็ควรเป็นหินที่ใช้ในการลับมีดโดยเฉพาะเท่านั้น
วิธีการลับใบมีดทางแท่นหน้า
ลำดับขั้นในการลับใบมีดทางแท่นหน้าที่ถูกต้องมีดังนี้

  1. ถอดปลั๊กหรือปิดเมนสวิตช์เครื่องไสเพลาะออกก่อนเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าที่จะเข้าสู่ตัวเครื่องออกทั้งหมด ถ้าเป็นไปได้ให้แขวนป้ายบอกไว้ด้วยก็จะปลอดภัยที่สุด
  2. ถอดฝาครอบป้องกันอันตรายออกและเลื่อนรั้วให้พ้นหัวตัด
  3. ลดระดับแท่นหน้าลงให้ต่ำกว่าระดับใบมีดประมาณ 1/8 นิ้วแล้วล็อกให้แน่น
  4. ใช้กระดาษพันโดยรอบหินลับโดยประมาณ 2 ใน 3ส่วนเพื่อมิให้หินขูดข่วนผิวแท่นเป็นรอยแล้ววางพาดไปบนหัวตัด
  5. หมุนหัวตัดด้วยมือจนกระทั่งหน้าที่ใช้ลับของหินวางราบอยู่บนส่วนที่เผล้มุมของใบมีด ให้ส่วนของหินที่พันด้วยกระดาษวางอยู่บนพื้นของแท่นหน้า
  6. จับยึดหัวตัดให้แน่นแล้วถูหินไป – มาตลอดความยาวของใบมีดจนกระทั่งใบมีดคม การลับใบมีดจะต้องกดหินลับด้วยน้ำหนักที่เท่าๆกันโดยตลอด
  7. ลับใบมีดอื่นด้วยขั้นตอนที่ 4 – 6 จนครบทุกใบ

2.8การเปลี่ยนและปรับตั้งใบมีด
ลำดับขั้นตอนในการเปลี่ยนและปรับตั้งใบมีดมีดังนี้

  1. ถอดปลั๊กหรือปิดเมนสวิตช์เครื่องไสเพลาะออกก่อนเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าที่จะเข้าสู่ตัวเครื่องออกทั้งหมด ถ้าเป็นไปได้ให้แขวนป้ายบอกไว้ด้วยก็จะปลอดภัยที่สุด
  2. ถอดฝาครอบป้องกันอันตรายออกและเลื่อนรั้วให้พ้นหัวตัด
  3. ถอดใบมีดที่ทื่อออกจากหัวตัด จากนั้นให้ทำความสะอาดร่องของใบมีดที่หัวตัด
  4. ใส่ใบมีดใหม่พร้อมเหล็กประกบเข้าที่เดิม โดยให้ด้านเผล้มุมของใบมีดอยู่ทางด้านหลัง
  5. จัดมีดให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง แล้วขันน็อตยึดด้วยมือพอตึง
  6. หมุนหัวตัดให้ใบมีดที่จะปรับมาอยู่ในตำแหน่งที่สูงที่สุด โดยใบมีดจะต้องไม่ยื่นพ้นหัวตัดเกินกว่า 3/16 นิ้ว ปรับและตั้งใบมีดให้สูงเท่ากับแท่นหลัง การตั้งใบมีดอาจใช้แม่เหล็กรูปเกือกม้าวางทาบลงบนแท่นหลังและปรับยกใบมีดขึ้นมาจนคมของใบมีดสัมผัสกับท้องของท่อนไม้ก็ได้ เครื่องไสเพลาะบางเครื่องจะใช้สกรูปรับระดับของใบมีดก็ให้ใช้สกรูปรับแทนการใช้มือ
  7. เมื่อตรวจสอบแล้วเห็นว่าใบมีดอยู่ในระดับเดียวกันตลอดทั้งใบ ก็ให้ใช้ประแจขันน็อตยึดใบมีดให้แน่น
  8. ทำการปรับตั้งใบมีดที่เหลือด้วยขั้นตอนการทำงานเดียวกันตั้งแต่ขั้นตอนที่ 5 -7
  9. ตรวจสอบอีกครั้งว่าใบมีดที่ติดตั้งทุกใบอยู่ในระดับเดียวกันทั้งหมดและสูงเท่ากับความสูงของแท่นหลังเมื่อใบมีดในแต่ละใบอยู่ในตำแหน่งที่สูงที่สุด
  10. ตรวจสอบความแน่นของน็อตที่ยึดใบมีดทุกใบอีกครั้งหนึ่ง
  11. ใส่ฝาครอบป้องกันอันตรายและเลื่อนรั้วกลับเข้าที่เดิม
  12. ทดลองไสไม้ดูหลายๆครั้งเพื่อดูว่าไสได้เรียบและสม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าไม่ก็ให้ทำการปรับใหม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Free Web Hosting