เครื่องเลื่อยวงเดือน (circular saw) จัดเป็นเครื่องเลื่อยเอนกประสงค์ เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์ได้นานับประการ อาทิ การซอย การตัด การทำ บังใบ การเพล่มุม การเซาะร่อง และอื่นๆ มีทั้งแบบตั้งโต๊ะ (bench type) และตั้งพื้น (floor type) ทั้ง 2แบบยังมีทั้งแบบแท่นเลื่อยเอียงได้ (tilting table) และแบบใบเลื่อยเอียงได้ (tilting blade) แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบใบเลื่อยเอียงได้ ซึ่งก็มีทั้งแบบเอียงไปทางซ้าย และแบบเอียงไปทางขวา
เครื่องเลื่อยวงเดือนเป็นที่นิยมใช้มากในงานทำเครื่องเรือน หรืองานที่ต้องการความละเอียดและประณีตสูง

 

 

 

2. ขนาด
                ขนาดของเครื่องเลื่อยวงเดือน จะกำหนดจากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโตสุดของใบเลื่อยที่สามารถใช้กับเครื่องเลื่อย ขนาดที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่ ขนาด8นิ้ว (200มิลลิเมตร) หรือขนาด10นิ้ว (250มิลลิเมตร) เครื่องเลื่อยวงเดือนส่วนใหญ่จะได้รับการออกแบบให้ใบเลื่อยสามารถที่จะปรับเอียงไปทางขวา แต่ก็มีบางเครื่องที่ออกแบบให้ปรับเอียงไปทางซ้าย ส่วนพื้นโต๊ะจะมีทั้งแบบเอียงได้และเอียงไม่ได้ สำหรับแท่นเลื่อยแบบเอียงได้ ใบเลื่อยจะเป็นแบบเอียงไม่ได้ ส่วนแท่นเลื่อยแบบเอียงไม่ได้ ใบเลื่อยจะเป็นแบบเอียงได้

3. ส่วนประกอบที่สำคัญ
ส่วนประกอบที่สำคัญของเลื่อยวงเดือน มีดังนี้

                3.1 ฐานตู้เครื่องเลื่อย
ฐานตู้เครื่องเลื่อย (cabinet base) เป็นฐานที่ใช้ในการรองรับตู้เครื่องเลื่อยและส่วนประกอบทั้งหมด

                3.2 ตู้เครื่องเลื่อย
ตู้เครื่องเลื่อย (cabinet) เป็นส่วนที่ใช้รองรับเครื่องเลื่อยและส่วนประกอบทั้งหมด

                3.3 แท่นเลื่อย
แท่นเลื่อย (table) เป็นส่วนที่ใช้ในการรองรับชิ้นงาน นอกจากนั้น ยังเป็นที่สำหรับติดตั้งรั้วเครื่องเลื่อย ที่พื้นที่แท่นเลื่อยจะมีร่องตัดจำนวน2ร่องเพื่อเป็นที่สำหรับติดตั้งเกจตัดปากกบ ร่องนี้จะอยู่ทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวาและขนานไปกับใบเลื่อย ตรงกลางของแท่นเลื่อยจะทำเป็นช่องเพื่อให้ใบเลื่อยสามารถโผล่ขึ้นมาได้ ช่องนี้จะถูกปิดด้วยแผ่นสอดแท่นเลื่อย (throat plate) แผ่นนี้สามารถถอดออกได้จึงทำให้สะดวกต่อการเปลี่ยนใบเลื่อย และจะต้องใส่กลับที่เดิมทุกครั้งหลังเปลี่ยนใบเลื่อยแล้ว

                3.4 รั้วซอย
รั้วซอย (rip fence) จะทำหน้าที่รองรับชิ้นงานที่ป้อนผ่านเครื่องเลื่อย การควบคุมบังคับชิ้นงานที่ป้อนของผู้ปฏิบัติงานประกอบกับการควบคุมชิ้นงานด้วยรั้ว จะมีผลทำให้งานที่ทำออกมาเรียบร้อยและถูกต้องตามความต้องการ รั้วซอยจะติดตั้งเข้ากับราวเหล็กที่ยึดติดและขนานไปกับแท่นเลื่อยทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง สามารถที่จะปรับเลื่อนไป-มาทางขวางของแท่นเลื่อยและยึดให้อยู่ตำแหน่งใดๆ ก็ได้ ราวเหล็กทางด้านหน้าเรียกว่า ราวกำหนดระยะ

                3.5 ราวบังคับรั้ว
ราวบังคับรั้ว (fence guide bar) มี2ราวยึดติดและขนานไปกับแท่นเลื่อยทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง เป็นที่สำหรับให้รั้วซอยสามารถปรับเลื่อยไป-มาและยึดให้อยู่ตำแหน่งใดๆ ก็ได้ โดยที่ราวทางด้านหน้าที่นอกจากจะทำหน้าที่เหมือนกับราวทางด้านหลังแล้ว ยังสามารถใช้ในการกำหนดระยะหรือความกว้างในการตัดหรือซอยได้อีกด้วย ราวนี้จึงถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ราวกำหนดระยะ (front graduated guide bar)

                3.6 ที่ยึดรั้ว
ที่ยึดรั้ว (fence clamp handle) เป็นที่สำหรับใช้ควบคุมบังคับรั้วซอยและยึดรั้วซอยให้แน่นกับราวบังคับรั้วทางด้านหน้า หรือราวกำหนดระยะหลังปรับตั้งรั้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว

                3.7 ลูกบิดตั้งระยะละเอียด
ลูกบิดตั้งระยะละเอียด (fence micro-set knob) จะอยู่ที่รั้วซอยทางด้านหน้าใช้ในการปรับตั้งระยะระหว่างใบเลื่อยกับรั้วอย่างละเอียด

                3.8 เกจตัดปากกบ
เกจตัดปากกบ (miter gage) บางทีเรียกรั้วตัด ใช้ทำหน้าที่ในการบังคับหรือควบคุมไม้ในการตัดปากกบ หรือการตัดไม้เป็นมุมต่างๆ

                3.9 ร่องติดตั้งเกจตัดปากกบ
ร่องติดตั้งเกจตัดปากกบ (T-slot for miter gage) เป็นร่องรูปตัวที มีจำนวน2ร่องบนแท่นเลื่อยทางด้านซ้ายของใบเลื่อย1ร่อง และทางด้านขวาของใบเลื่อย1ร่อง ใช้เป็นที่ติดตั้งเกจตัดปากกบเมื่อต้องการตัดปากกบหรือตัดไม้เป็นมุม

                3.10 ก้านกำหนดระยะ
ก้านกำหนดระยะ (stop rod) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งเข้ากับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดเพื่อกำหนดระยะของชิ้นงานที่จะตัด ใช้ในกรณีที่ต้องตัดซ้ำขนาดเดิมจำนวนมาก อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถปรับตั้งระยะได้ตามความต้องการ

                3.11 ฝาครอบป้องกันอันตรายและตัวเปิดคลองเลื่อย
ฝาครอบป้องกันอันตรายและตัวเปิดคลองเลื่อย (uniguard with disappearing splitter) เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ครอบใบเลื่อยเพื่อป้องกันอันตรายมิให้เกิดกับผู้ปฏิบัติงาน ตามปกติจะมีตัวเปิดคลองเลื่อยติดตั้งมาด้วยเพื่อช่วยเปิดคลองเลื่อยหลังการตัด และอาจจะมีนิ้วป้องกันการตีกลับ (anti-kickback finger) ติดตั้งเข้ากับตัวเปิดคลองเลื่อยอีกทีหนึ่ง จึงช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ฝาครอบป้องกันอันตรายนี้จะต้องพยายามรักษาให้อยู่ในที่เสมอถ้าเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม การทำงานในบางลักษณะก็จำเป็นที่จะต้องถอดฝาครอบนี้ออกเสียก่อน กรณีนี้ให้ใช้ฝาครอบป้องกันอันตรายแบบพิเศษแทน (ถ้ามี)

                3.12 สเกลบอกความเอียงใบเลื่อย
สเกลบอกความเอียงใบเลื่อย (saw tilt scale) เป็นตัวเลขที่บอกระดับความเอียงของใบเลื่อยเป็นองศา ใช้ในการตั้งความเอียงของใบเลื่อยเมื่อต้องการตัดเอียง

                3.13 มือหมุนเอียงใบเลื่อย
มือหมุนเอียงใบเลื่อย (saw tilt handwheel) เป็นมือหมุนสำหรับปรับเอียงใบเลื่อยไปที่มุมตามต้องการ

                3.14 มือหมุนยกใบเลื่อย
มือหมุนยกใบเลื่อย (saw raising handwheel) เป็นมือหมุนสำหรับปรับยกใบเลื่อยขึ้น-ลงจามต้องการ ไปตามความหนาของชิ้นงานที่ตัด

                3.15 ปุ่มล็อก
ปุ่มล็อก(lock knob) เป็นปุ่มที่ใช้ล็อกใบเลื่อยให้หมุนตัดชิ้นงาน กำลังของมอเตอร์จะขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องเลื่อย

                3.16 ช่องขจัดขี้เลื่อย
ช่องขจัดขี้เลื่อย (sawdust clean-out) เป็นช่องสำหรับนำขี้เลื่อยออกจากตัวเครื่อง

                3.17 มอเตอร์
มอเตอร์ (motor) เป็นส่วนที่ใช้ขับใบเลื่อยให้หมุนตัดชิ้นงาน กำลังของมอเตอร์จะขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องเลื่อย

                3.18 สวิตช์
สวิตช์ (switch) เป็นสวิตช์ที่ใช้เปิด-ปิดเพื่อควบคุมการทำงานของมอเตอร์ สวิตช์นี้แกติจะอยู่ที่ตู้เครื่องเลื่อยเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน

4. ใบตัด
ใบตัด (cutter) ที่ใช้กับเครื่องเลื่อยวงเดือน จำแนกออกได้เป็น2ชนิด คือ
1. ใบเลื่อย
2. หัวเซาะร่อง

                4.1 ใบเลื่อย
ใบเลื่อย (saw blade) ของเครื่องเลื่อยวงเดือน จะเหมือนใบเลื่อยที่ใช้กับเครื่องเลื่อยวงเดือนแบบมือถือและเครื่องเลื่อยรัศมี สำหรับการใช้ใบเลื่อยจะต้องแน่ใจว่าใบเลื่อยที่ใช้เป็นชนิดและขนาดที่ถูกต้อง รูที่ศูนย์กลางของใบเลื่อยก็จะต้องมีขนาดและรูปร่างที่ถูกต้องกับขนาดและรูปร่างของแกนเพลาของมอเตอร์ด้วยเช่นกัน
ใบเลื่อยของเครื่องเลื่อยประเภทนี้จำแนกออกได้เป็น6แบบด้วยกัน คือ
1. แบบตัด
2. แบบไส
3. แบบซอย
4. แบบผสม
5. แบบตัดหยาบ
6. แบบตัดไม้อัด

                ใบเลื่อยแบบตัด (cutoff or crosscut)
ใบเลื่อยแบบนี้จะตัดไม้ได้ดีที่สุด ฟันเลื่อยจะเหมือนกับฟันของเลื่อยลันดา แบบฟันดัดที่ออกแบบมาให้ตัดขวางเสี้ยนไม้ จึงเหมาะต่อการตัดไม้ให้ได้ขนาดความยาวที่ต้องการ ฟันเลื่อยแบบตัดจะมีมุมระหว่างฟัน60องศา ที่ฟันจะเพล่มุม10องศา สามารถตัดได้ทั้งไม้เนื้ออ่อนและเนื้อแข็ง
ใบเลื่อยแบบไส (hollow ground or planer)
ใบเลื่อยแบบนี้จะเหมาะกับงานทำตู้หรือเครื่องเรือนซึ่งเป็นงานละเอียด ฟันเลื่อยของใบเลื่อยแบบนี้จะไม่มีการคันคลอง แต่ลักษณะปลายฟันที่บานออกเล็กน้อย จึงทำให้สามารถลดความเสียดทานลงได้บ้าง ใบเลื่อยแบบนี้จะตัดได้ช้ากว่าแบบอื่นๆ แต่รอยตัดจะเรียบกว่าทุกแบบ
ใบเลื่อยแบบซอย (ripsaw)
ใบเลื่อบแบบนี้จะซอยไม้ได้ดีที่สุด ฟันเลื่อยของใบเลื่อยแบบนี้จะเหมือนกับฟันของเลื่อยลันดาแบบฟันโกรกที่ออกแบบมาให้ตัดตามเสี้ยนไม้ ฟันเลื่อยจะมีรูปร่างเหมือนสิ่ว ร่องฟันจะลึกทำให้คายขี้เลื่อยได้ดี จึงเหมาะต่อการซอยไม้ไปตามความยาว แต่ไม่เหมาะต่อการตัดไม้อัด ฟันเลื่อยแบบซอยจะมีมุมระหว่างฟัน10ถึง15องศา ระหว่างร่องของฟันจะมีมุม30องศา สามารถตัดได้ทั้งไม้เนื้ออ่อนและเนื้อแข็ง
ใบเลื่อยแบบผสม (combination)
ใบเลื่อยแบบนี้ฟันเลื่อยจะเป็นทั้งแบบตัดและแบบซอยผสมกัน มีหลายรูปแบบ แต่ละแบบก็ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้กับงานเฉพาะอย่าง จึงสามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ ทุกแบบจะเหมาะต่อการตัดทั้งแบบขวางและตามเสี้ยนไม้ จึงเหมาะต่อการตัดและการซอยไม้ ใบเลื่อยแบบนี้ที่ร่องฟันจะมีมุม26องศาและมุมบน15องศา
ใบเลื่อยแบบตัดหยาบ(easy-cut)
ใบเลื่อยแบบนี้ฟันเลื่อยจะมีขนาดใหญ่ จำนวนฟันน้อย เป็นใบเลื่อยที่ให้ความปลอดภัยสูงสุด เพราะสามารถป้องกันการตีกลับของไม้ที่เลื่อยได้ คลองเลื่อยจะกว้างกว่าแบบอื่นๆ แต่รอยตัดจะไม่เรียบ
ใบเลื่อยแบบตัดไม้อัด (plywood)
ใบเลื่อยแบบนี้ ใบเลื่อยจะได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้กับการตัดไม้อัดโดยเฉพาะ จึงตัดไม้อัดได้เรียบเป็นพิเศษกว่าใบเลื่อยอื่นๆ มีการฉีกขาดหรือรอยบิ่นน้อยที่สุด ใบเลื่อยจะได้รับการชุบเป็นพิเศษเพื่อให้ฟันเลื่อยมีอายุการใช้งานยาวนานเมื่อต้องตัดผ่านเส้นกาวที่อยู่ภายในไม้อัด
ปกติใบเลื่อยแบบต่างๆ ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ที่ปลายฟันจะมีการติดเหล็กคาร์ไบด์ไว้ ซึ่งเหล็กชนิดนี้จะมีความแข็งและทนต่อการสึกหรอได้ดี จึงทำให้คุณภาพของการตัดดีขึ้นมาก และใบเลื่อยมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น
จำนวนฟันของใบเลื่อยแบบตัด แบบซอย และแบบผสมขนาดต่างๆ ได้ถูกแสดงดังตารางต่อไปนี้

 

จำนวนฟันของใบเลื่อยแบบตัด แบบซอย และแบบผสมขนาดต่างๆ


ขนาดของใบเลื่อย

จำนวนฟันของใบเลื่อย

นิ้ว (มิลลิเมตร)

แบบฟันตัด

แบบซอย

แบบผสม

8 (200)

100ถึง 120

36ถึง40

30ถึง44

10 (250)

72ถึง100

30ถึง36

36ถึง44

12 (300)

72ถึง100

24ถึง36

40ถึง44

14 (350)

60ถึง100

24ถึง36

44

ข้อสังเกต :ใบเลื่อยขนาดใหญ่จะมีจำนวนฟันน้อยกว่าใบเลื่อยขนาดเล็กเสมอ

                4.2 หัวเซาะร่อง
หัวเซาะร่อง (dado head) จัดเป็นใบตัดที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้กับการเซาะร่องโดยเฉพาะ ดังนั้นใบตัดชนิดนี้จึงถูกเรียกว่า หัวเซาะร่อง ใบตัดชนิดนี้จะประกอบด้วยใบเลื่อยทางด้านนอก จำนวน2ใบ และชุดของใบถาก (chipper) อยู่ระหว่างใบเลื่อยทั้งสอง สำหรับใบเลื่อยทางด้านนอก จะมีความหนา1/8นิ้ว (3มิลลิเมตร) ส่วนชุดของใบถากจะมีความหนาหลายขนาดให้เลือกได้ตามความต้องการ ตั้งแต่1/16ถึง1/4นิ้ว (2ถึง6มิลลิเมตร) โดยทั่วไปสามารถปรับใช้เซาะร่องได้กว้าง ถึง3/4นิ้ว (19มิลลิเมตร)
หัวเซาะร่องจะมีทั้งแบบธรรมดาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นและแบบปรับได้ (adjustable dado head) ซึ่งหัวเซาะร่องแบบนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มหรือลดจำนวนใบถากเพื่อเซาะร่องได้กว้างตามต้องการ เพราะสามารถปรับความกว้างในการเซาะร่องได้เองในตัว

5. กฎแห่งความปลอดภัย
                กฎแห่งความปลอดภัยในการใช้เครื่องเลื่อยวงเดือน มีดังนี้
1. การปรับตั้งเครื่องเลื่อยจะต้องกระทำในขณะที่เครื่องเลื่อยไม่ทำงานและใบเลื่อยหยุดหมุน การถอดปลั๊ก สายไฟออกขณะทำการปรับเครื่องเลื่อยจะช่วยให้มีความปลอดภัยสูง
2. ปรับใบเลื่อยให้ยื่นสูงขึ้นมาเหนือชิ้นงานที่จะตัดเสมอ ปกติจะให้ยื่นสูงขึ้นมาประมาณ1/8นิ้ว   (3มิลลิเมตร)
3. อย่าให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายอยู่เหนือใบเลื่อยที่กำลังหมุน นอกจากนั้น ชิ้นงานหรือเศษของชิ้น  งานที่ตัดหรือซอยที่อยู่โดยรอบใบเลื่อยจะต้องนำออกให้หมด เนื่องจากความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการ ทำงานของเครื่องเลื่อย อาจจะทำให้ชิ้นงานเหล่านี้เคลื่อนเข้าหาใบเลื่อยที่กำลังหมุน ซึ่งอาจทำให้เกิด        อันตรายจากชิ้นงานตีกลับได้
4. ให้นิ้วมือห่างออกมาจากใบเลื่อยอย่างน้อย5นิ้ว (125มิลลิเมตร) ตลอดเวลาที่ทำงาน แม้ว่าฝาครอบป้องกันอันตรายจะยังคงอยู่ในที่แล้วก็ตาม
5. รักษาฝาครอบป้องกันอันตรายและตัวเปิดคลองเลื่อยให้อยู่ในที่เสมอ เว้นงานบางอย่างที่จะต้องถอดออก  แต่หลังจากเสร็จงานแล้วจะต้องใส่กลับเข้าที่ทันที
6. ถ้างานที่ทำไม่สามารถใช้ฝาครอบป้องกันอันตรายแบบมาตรฐานได้ ก็ให้ใช้ไม้ขนนก (feather board)   หรือฝาครอบป้องกันอันตรายแบบพิเศษอื่นแทน
7. ห้ามใช้รั้วซอยเมื่อใช้เกจตัดปากกบหรือรั้วตัดในการตัดขวางเสี้ยนไม้ เว้นแต่จะใช้แท่งกำหนดระยะเผื่อ                 (clearance block) จึงจะสามารถใช้รั้วซอยได้
8. ให้ใช้ไม้ดันชิ้นงาน (push stick) ดันชิ้นงานขณะใกล้สิ้นสุดการซอยเสมอ การใช้มือดันอาจทำให้เกิดอันตรายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม้ซอยที่สั้นหรือเป็นไม้หน้าแคบ
9. ยืนเยื้องออกมาจากแนวของใบเลื่อยเสมอ การยืนในแนวของใบเลื่อยอาจทำให้ได้รับอันตรายจากขี้เลื่อยพุ่งใส่ใบหน้าและจากไม้ตีกลับ
10. เลือกใช้ใบเลื่อยให้ถูกกับประเภทของงานที่ทำ และใบเลื่อยที่ใช้จะต้องคมเสมอ
11. ไม้ที่จะนำมาตัดหรือซอยควรจะได้รับการไสปรับผิวหน้าและไสขอบทางข้างมาแล้วอย่างน้อยอย่างละ1ด้าน
12. ในการซอยจะต้องวางไม้ด้านที่ไสปรับผิวหน้าแล้วลงบนพื้นแท่นเลื่อย และให้ขอบไม้ด้านที่ไสปรับขอบแล้วแนบชิดกับรั้วซอยเสมอ
13. รักษาใบเลื่อยให้สะอาดอยู่เสมอ ขี้เลื่อยที่ติดอยู่กับฟันเลื่อยให้ปัดออกด้วยแปรงหรือเขี่ยออกด้วยไม้ห้ามใช้นิ้วเขี่ยเพราะอาจทำให้ได้รับอันตรายได้
14. การทำความสะอาดแท่นเลื่อยให้ใช้แปรงปัดแทนการใช้มือ ก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายจากใบเลื่อยของเครื่องเลื่อยได้
15. ชุดทำงานจะต้องกระทัดรัด ควรสวมเสื้อแขนสั้นถ้าเป็นแขนยาวจะต้องพับแขนเสื้อให้อยู่เหนือข้อศอกให้เรียบร้อย ถ้าผูกเนคไทด์ควรถอดออกหรือสอดเก็บไว้ในเสื้อให้เรียบร้อยเช่นกัน ต้องไม่ให้มีส่วนหนึ่งส่วนใดของเครื่องแต่งกายหลุดลุ่ยขณะปฏิบัติงาน ต้องถอดแหวน นาฬิกา และสิ่งอื่นอาจเกี่ยวติดเข้ากับ            เครื่องเลื่อยขณะเครื่องทำงาน
16. จับไม้ให้แน่นกับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดเมื่อตัดขวางเสี้ยนไม้ จับและดันไม้ให้แนบชิดกับรั้วซอยเมื่อซอยไม้
17. ต้องแน่ใจว่ารั้วซอยได้ยึดแน่นเข้ากับแท่นเลื่อยเรียบร้อยแล้วก่อนใช้งาน
18. กรณีต้องใช้ผู้ช่วย เช่น การซอยไม้ที่ยาวมาก ห้ามไม่ให้ผู้ช่วยดึงชิ้นงานแต่อนุญาตเพียงให้ประคองชิ้นงานให้อยู่ในระดับเดียวกันกับแท่นเลื่อยเท่านั้น
19. หัวเซาะร่องหรือใบเลื่อยแบบพิเศษใดๆ ควรถอดออกจากเครื่องเลื่อยทันทีหลังเสร็จงาน
20. ห้ามนำไม้ที่มีตาไม้ ไม้ที่แตกร้าว หรือไม้ที่บิดงอมาเลื่อยด้วยเครื่องเลื่อยวงเดือน
21. หลังเสร็จงานและปิดเครื่องเลื่อยแล้ว ให้รอจนกว่าใบเลื่อยจะหยุดหมุนแล้วจึงค่อยออกจากตัวเครื่อง

6. การปรับเครื่องเลื่อยวงเดือน

                6.1 การติดตั้งหรือถอดใบเลื่อย
ลำดับขั้นการทำงาน
ลำดับขั้นในการติดตั้งหรือการถอดใบเลื่อยที่ถูกต้อง มีดังนี้
1. ถอดฝาครอบป้องกันอันตรายออกจากเครื่องเลื่อย
2. ถอดแผ่นสอดแท่นเลื่อยออกจากแท่นเลื่อย
3. ปรับใบเลื่อยไปอยู่ในตำแหน่งสูงสุด
4. เลือกประแจที่ขนาดพอดีกับนอตล็อกใบเลื่อยแล้วใช้ประแจคลายนอตล็อกออก ในการคลายนอตล็อกให้                ตรวจสอบเกลียวของนอตล็อกเสียก่อน ถ้าเป็นเกลียวซ้ายก็จะต้องหมุนประแจตามเข็มนาฬิกาเพื่อคลายออก                 แต่ถ้าเป็นเกลียวขวาก็จะต้องหมุนประแจทวนเข็มนาฬิกา ถ้านอตล็อกแน่นมากให้ใช้แท่นไม้เป็นลิ่มขัด         ระหว่างฟันเลื่อยกับพื้นแท่นเลื่อยเพื่อไม่ให้ใบเลื่อยหมุนตาม จับไม้ด้วยมือข้างหนึ่งและอีกข้างหนึ่งดึง             ประแจก็จะสามารถคลายนอตออกมาได้
5. ถอดนอตล็อกและปลอกเพลา (collar) ออก แล้วนำใบเลื่อยเก่าออก
6. ใส่ใบเลื่อยใหม่เข้าแทนที่ โดยให้ฟันเลื่อยชี้ไปตามทิศทางการหมุนของใบเลื่อย จากนั้นขันนอตล็อกให้  แน่น แต่ไม่ต้องแน่นมากเพราะเมื่อใบเลื่อยหมุนก็จะทำให้นอตล็อกแน่นขึ้นได้เอง
7. ใส่แผ่นสอดแท่นเลื่อยกลับที่เดิม
8. ติดตั้งฝาครอบป้องกันอันตรายกลับที่เดิม

                6.2 การยกใบเลื่อย
การยกใบเลื่อยขึ้น-ลง สามารถทำได้โดยมือหมุนปรับใบเลื่อยซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของตัวเครื่อง โดยทั่วไปที่มือหมุนปรับจะมีปุ่มล็อก ดังนั้น ก่อนหมุนมือหมุนเพื่อปรับยกใบเลื่อยขึ้น-ลงก็จะต้องคลายล็อกที่ปุ่มล็อกเสียก่อนจึงจะสามารถปรับหมุนใบเลื่อยได้ การปรับใบเลื่อยให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ให้วางไม้เลื่อยชิดทางด้านข้างของใบเลื่อย จากนั้นหมุนใบเลื่อยด้วยมืออย่างระมัดระวังจนกระทั่งปลายฟันที่สูงที่สุดอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ โดยทั่วไปจะให้ยื่นขึ้นไปเหนือไม้ที่จะตัดประมาณ1/8นิ้ว (3มิลลิเมตร) หลังปรับได้ที่แล้วล็อกมือหมุนปรับให้แน่น

                6.3 การเอียงใบเลื่อย
การเอียงใบเลื่อย สามารถทำได้โดยมือหมุนเอียงใบเลื่อยซึ่งอยู่ทางด้านข้างของตัวเครื่อง เข็มชี้และสเกลที่อยู่ทางด้านหน้าจะระบุจำนวนองศาการเอียงของใบเลื่อย ปกติจะมีที่ล็อกสำหรับยึดใบเลื่อยให้อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งหลังตั้งเสร็จแล้ว

                6.4 การปรับรั้วซอย
ในการซอยไม้และงานตัดอื่นๆ รั้วซอยจะต้องได้รับการติดตั้งเข้ากับแท่นเลื่อย ปกติจะติดตั้งเข้ากับทางด้านขวาของใบเลื่อย การปรับใบเลื่อยให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ ขั้นแรกให้เลื่อยรั้วซอยไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการโดยประมาณก่อน จากนั้นวางฉากลงบนพื้นแท่นเลื่อยให้ด้ามฉาก แนบชิดกับรั้วซอยโดยที่ใบฉากอยู่ที่ฟันเลื่อยซี่ที่บิดมาทางรั้วซอย จากนั้นจึงปรับระยะจากรั้วซอยถึงปลายซี่ฟันให้ได้ตามต้องการ (เท่ากับความกว้างของไม้ที่จะซอย)
เครื่องเลื่อยบางเครื่องจะมีเข็มชี้ที่รั้วซอยและสเกลที่ทางด้านหน้าของแท่นเลื่อยสำหรับระบุความกว้างในการตัดก็สามารถปรับได้เลย การปรับรั้วซอยจะต้องมีการตรวจสอบบ่อยๆ เพื่อมั่นใจได้ว่ามีความถูกต้อง แต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนใบเลื่อย สเกลจะต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้ง เพราะปริมาณของการปรับตั้งใบเลื่อยจะมีผลกระทบต่อระยะห่างระหว่างรั้วซอยกับคลองเลื่อย ในทางปฏิบัติที่ดีการปรับด้วยสเกลให้ถือเป็นการปรับหยาบเท่านั้น การทดสอบความถูกต้องในการปรับทำได้โดยการตัดจริงแล้วตรวจสอบด้วยการวัดหรือด้วยการทาบเข้ากับแบบจริงเท่านั้น

                6.5 การปรับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัด
เกจตัดปากกบหรือรั้วตัด เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการตัดขวางเสี้ยนไม้ สามารถใช้กับร่องหนึ่งร่องใดบนแท่นเลื่อยก็ได้ ปกติแล้วจะใช้กับร่องที่อยู่ทางด้านซ้ายของใบเลื่อย ที่เกจตัดปากกบหรือรั้วตัดจะมีเข็มชี้และสเกลสำหรับการปรับองศาไปทางด้านขวาหรือซ้ายทางหนึ่งทางใดก็ได้ เกจตัดปากกบหรือรั้วตัดส่วนใหญ่จะสามารถล็อกตำแหน่งองศาที่ปรับได้โดยอัตโนมัติ โดยทั่วไปจะทำให้ล็อกที่ตำแหน่ง 30,45,60และ90องศา ดังนั้น ในการตัดไม้เป็นมุมจึงต้องปรับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดไปที่มุมตามต้องการเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม การตัดไม้เป็นมุมด้วยอุปกร์ชิ้นนี้ ไม้ที่ตัดจะค่อยๆ เลื่อนไปตามการเอียงของแขนอุปกรณ์ขณะที่ทำการตัดทำให้ยากต่อการควบคุม ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงควรใช้เกจตัดปากกบหรือรั้วตัดร่วมกับก้านกำหนดระยะ หรือร่วมกับรั้วไม้ติดกระดาษทรายก็ได้ ก็จะทำให้การควบคุมการตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

7. การซอยไม้
ก่อนการซอยไม้นั้น ไม้ที่จะนำมาซอยจะต้องได้รับการไสปรับผิวหน้า และไสขอบทางด้านข้างให้เรียบตรงมาก่อนอย่างน้อยอย่างละ1ด้าน ในการซอยจะต้องเอาหน้าไม้ด้านที่ไสแนบกับพื้น แท่นเลื่อย และขอบด้านที่ไสแนบกับรั้วซอยเสมอ สำหรับใบเลื่อยที่ใช้สำหรับการซอย ได้แก่ ใบเลื่อยแบบซอย แบบผสม หรือแบบตัดหยาบ

                7.1 การซอยไม้หน้ากว้างให้ได้ขนาด
ลำดับขั้นในการทำงาน
ลำดับขั้นในการซอยไม้หน้ากว้างให้ได้ขนาดที่ถูกต้อง มีดังนี้
1. เมื่อความกว้างของหน้าไม้ที่จะซอยเท่ากับ6นิ้ว (150มิลลิเมตร)หรือกว้างกว่าจะถือว่าเป็นไม้หน้ากว้าง   กรณีนี้ให้ปรับระยะระหว่างรั้วซอยกับใบเลื่อยให้ได้ความกว้างตามความต้องการที่จะซอย
2. เปิดเครื่อง วางไม้ที่จะซอยลงบนแท่นเลื่อยโดยให้ด้านหน้าไม้ทาบกับพื้นของแท่นเลื่อย และด้านขอบไม้              แนบกับรั้วซอย ใช้มือด้านซ้ายดันไม้ให้ชิดกับรั้วซอย และมือด้านขวาดันป้อนไม้เข้าสู่ใบเลื่อย ถ้าไม้ที่ซอย    ยาวเกินกว่า6หรือ8ฟุต (1.80หรือ2.40เมตร) ให้หาผู้ช่วยคอยรับไม้ทางด้านหลังโต๊ะเพื่อรับไม้ที่ผ่านใบ           เลื่อยแล้ว ถ้าไม่มีผู้ช่วยก็ให้ใช้ขาตั้งรับไม้แบบลูกกลิ้งรองรับแทนก็ได้
3. ป้อนงานเข้าสู่ใบเลื่อยด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ ต้องระมัดระวังอย่าให้เครื่องเลื่อยทำงานเกินกำลัง ขณะ ดันปลายไม้ผ่านใบเลื่อยมือขวาจะต้องชิดกับรั้วซอยเสมอเท่าที่จะเป็นไปได้
4.ถ้าไม้ที่ซอยหนามากหรือเป็นไม้เนื้อแข็งมาก ก็จำเป็นที่จะต้องซอยบางส่วนไปก่อน จากนั้นให้กลับแผ่น                ไม้แล้วซอยส่วนที่เหลือ ในการป้อนไม้เข้าซอยส่วนที่เหลือ ไม้ด้านที่ชิดเข้ากับรั้วซอยจะต้องเป็นด้านเดิม        กับที่ซอยครั้งแรก ทั้งนี้ก็เพื่อให้แนวการซอยอยู่ในแนวเดิม
หมายเหตุ :1. ห้ามซอยชิ้นงานที่สั้นกว่าระยะระหว่างใบเลื่อยกับรั้วซอย
2. กรณีต้องการนำไม้ที่ซอยแล้วไปไสผิว ให้เผื่อความกว้างในการซอยไว้ประมาณ1/16นิ้ว (2มิลลิเมตร)

                7.2 การซอยไม้หน้าแคบให้ได้ขนาด
ลำดับขั้นในการทำงาน
                ลำดับขั้นในการซอยไม้หน้าแคบให้ได้ขนาดที่ถูกต้อง มีดังนี้
1. เมื่อความกว้างของหน้าไม้ที่จะซอยแคบกว่า6นิ้ว (150มิลลิเมตร) ก็ให้ปรับระยะระหว่างรั้วซอยกับใบ    เลื่อยให้ได้ตามความต้องการที่จะซอย
2. ป้อนงานเข้าสู่ใบเลื่อยด้วยความเร็วที่สม่ำเสมอ ต้องระมัดระวังอย่าให้เครื่องเลื่อยทำงานเกินกำลัง ขณะ ดันปลายไม้ผ่านใบเลื่อยมือขวาจะต้องชิดกับรั้วซอยเสมอเท่าที่จะเป็นไปได้
3. เมื่อปลายไม้เคลื่อนที่ใกล้ถึงหน้าใบเลื่อยแล้วก็ให้ใช้ไม้ดันชิ้นงานแทนการใช้มือเพื่อส่งไม้ที่ซอยที่อยู่    ระหว่างใบเลื่อยกับรั้วซอย ก็จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย
4. ถ้าไม้ที่ซอยหน้าแคบมาก จะเป็นการดีที่สุดที่จะซอยทีละครึ่ง แล้วกลับไม้เพื่อซอยส่วนที่เหลือ
หมายเหตุ :กรณีซอยไม้หน้าแคบที่ยาวมากให้ใช้ไม้ขนนกช่วยควบคุมการซอย โดยการติดตั้งไม้ขนนกเข้ากับแท่น เลื่อยในลักษณะกดชิ้นงานแนบกับรั้ว

                7.3 การเลื่อยซ้ำ
กรณีซอยไม้หน้ากว้างทางด้านขอบ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องซอย2ครั้ง โดยในการซอยครั้งแรกจะต้องปรับใบเลื่อยให้สูงขึ้นมาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของหน้าไม้ประมาณ1/8นิ้ว (3มิลลิเมตร) แล้วซอยครั้งที่1ไปตลอดความยาวของแผ่นไม้ จากนั้นให้กลับแผ่นไม้แล้วซอยส่วนที่เหลือโดยให้ไม้ด้านที่ชิดกับรั้วเป็นด้านเดิมกับที่ซอยครั้งแรก ก็จะทำให้การซอยอยู่ในแนวเดิม แต่ถ้าหน้าไม้ที่ซอยกว้างมากจนไม่สามารถซอยให้ขาดได้ภายใน2ครั้งแม้จะปรับใบเลื่อยขึ้นสูงสุดแล้วก็ตาม ก็จะต้องนำไปตัดส่วนที่เหลือด้วยเครื่องเลื่อยสายพานต่อไป

                7.4 การซอยเรียว
ในการซอยเรียว เช่น การซอยขาโต๊ะหรือขาเก้าอี้ด้วยเครื่องเลื่อยวงเดือน จะต้องใช้อุปกรณ์นำตัด (jig) มาช่วยในการซอยก็จะได้ความเรียวตามต้องการ
ลำดับขั้นการทำงานในการซอยเรียวที่ถูกต้อง มีดังนี้
1. ปรับอุปกรณ์นำตัดให้ได้ความเรียวตามต้องการ
2. จับชิ้นงานให้แนบกับอุปกรณ์นำตัดให้แน่น โดยให้หัวไม้ชนเข้ากับแท่งไม้กันชิ้นงานที่ด้านหัวของ       อุปกรณ์นำตัด
3. ใช้มือขวาป้อนชิ้นงานไปพร้อมกับอุปกรณ์นำตัดเข้าสู่ใบเลื่อย ใช้ไม้กดประคองชิ้นงานด้วยมือซ้าย ให้ ทำด้วยความระมัดระวังก็จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย

8. การตัดขวางเสี้ยนไม้
สำหรับใบเลื่อยที่เหมาะต่อการใช้งาน ได้แก่ ใบเลื่อยแบบตัด แบบไส และแบบผสม การเลื่อยแบบนี้ทุกงานจะต้องใช้ร่วมกับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัด สำหรับการรองรับชิ้นงานที่เพิ่มเติมไปจากเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดก็คือ การใช้ไม้แผ่นยาวพอเหมาะยึดติดเข้ากับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัด แต่ปากกาที่ใช้ยึดจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมไม่รบกวนการทำงาน ในการตัดขวางเสี้ยนไม้จะต้องถอดรั้วซอยออกก่อนเสมอ ในการตัดจะต้องให้เครื่องหมายที่ทำไว้อยู่ในแนวเดียวกันกับใบเลื่อยให้มากที่สุด ต้องแน่ใจว่าเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดต้องได้รับการปรับตั้งอย่างถูกต้อง ในทางปฏิบัติที่ดีถ้าก้านกำหนดระยะถูกนำมาใช้ก็สามารถที่จะป้องกันมิให้ไม้เกิดการเคลื่อนตัวขณะทำการตัดได้ ทำให้การตัดมีความแม่นยำมากขึ้น

                8.1 การตัดไม้แผ่นหรือไม้ท่อนสั้น
ให้ติดตั้งเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดเข้ากับร่องทางด้านซ้ายของใบเลื่อย จับไม้เข้ากับเกจตัดปากกบหรือรั่วตัดให้แน่นและป้อนเข้าสู่ใบเลื่อยช้าๆ อย่าลากปลายไม้ที่ตัดผ่านใบเลื่อยไปแล้วกลับมาเพราะอาจทำให้ได้รับอันตรายได้
8.2 การตัดไม้แผ่นหรือไม้ท่อนยาว
ถ้าไม้ที่จะตัดยาวเกินกว่า6หรือ8ฟุต (1.80หรือ2.40เมตร) ให้หาผู้ช่วยคอยรับปลายไม้ที่ตัดอีกด้านหนึ่ง

 8.3 การตัดไม้อัด
เนื่องจากโครงสร้างและขนาดของไม้อัดจะแตกต่างไปจากไม้แปรรูปอื่น จึงทำให้เกิดปัญหาในการตัด ทั้งนี้เนื่องจากเสี้ยนไม้ในแต่ละชั้นจะวางตั้งฉากซึ่งกันและกัน จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้ไม้ที่ตัดฉีกได้ง่ายไม่ว่าจะตัดในทิศทางใดก็ตาม กาวที่ใช้ประสานระหว่างชั้นยังจะทำให้ใบเลื่อยที่ตัดทื่ออีกด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น การที่เป็นแผ่นไม้ขนาดใหญ่ จึงทำให้ยากต่อการที่จะวางลงบนแท่นเลื่อยอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อที่จะลดปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวให้น้อยลง ก็จะต้องปรับใบเลื่อยให้สูงพ้นแผ่นไม้เพียงเล็กน้อย ปกติถ้าใช้ตัดไม้แปรรูปทั่วไปจะให้สูงพ้นไม้ประมาณ1/8นิ้ว (3มิลลิเมตร) และวางแผ่นไม้ให้ด้านที่ดีที่สุดอยู่ทางด้านบน จากนั้นให้ดำเนินการ1ใน3วิธีดังต่อไปนี้
วิธีที่1 :กลับทางเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดเมื่อเริ่มตัดเพื่อนำแผ่นไม้เข้าสู่ใบเลื่อย ตัดให้ได้ยาวที่สุดเท่าที่จะตัดได้ จากนั้นถอดรั้วตัดออกแล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ในตำแหน่งใช้งานตามปกติแล้วตัดต่อไปจนเสร็จ
วิธีที่2 :ยึดแผ่นไม้ให้ด้านที่ขอบไสเรียบตรงเข้ากับทางด้านล่างของแผ่นไม้ที่จะตัด โดยให้ขอบด้านหนึ่งชนเข้ากับขอบโต๊ะ การทำในลักษณะนี้แผ่นไม้ที่ยึดจะเป็นตัวบังคับไม้ที่จะตัดให้ตัดได้ตรงแนว
วิธีที่3 :ใช้รั้วซอยในการควบคุมการตัด

                8.4 การตัดไม้ขนาดเดียวกันหลายชิ้นให้ได้ขนาดเท่ากัน
การตัดไม้ขนาดเดียวกันหลายชิ้นให้ได้ขนาดเท่ากัน มีหลายวิธีดังนี้
วิธีที่1 :สำหรับไม้ขนาดสั้นๆ ให้ยึดแท่งกำหนดระยะ (stop block) เข้ากับรั้วซอยมาทางด้านหน้าของใบเลื่อย จากนั้นปรับรั้วซอยเพื่อกำหนดระยะที่จะตัดให้ถูกต้อง (ระยะระหว่างขอบของแท่งกำหนดระยะกับฟันเลื่อยจะต้องเท่ากับความยาวของไม้ที่จะตัด) ในการตัดจะต้องวางปลายไม้ที่จะตัดให้ชนกับแท่งกำหนดระยะแล้วป้อนไม้เข้าสู่ใบเลื่อยก็สามารถที่จะตัดได้ในระยะที่ถูกต้อง แท่งกำหนดระยะจะช่วยให้มีช่องว่างระหว่างขอบรั้วซอยกับชิ้นงานที่จะตัดเพียงพอที่จะไม่ทำให้ไม้ที่ตัดเกิดการตีกลับได้
วิธีที่2 :ปรับก้านกำหนดระยะที่เกจตัดปากกบหรือรั้วตัดให้ได้ระยะการตัดที่ถูกต้อง
วิธีที่3 :ให้ยึดแท่งกำหนดระยะเข้ากับไม้อีกแผ่นหนึ่งที่ยึดเข้ากับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัด
วิธีที่4 :ให้ยึดแท่งกำหนดระยะเข้ากับแท่นเลื่อยทางด้านซ้ายของใบเลื่อย

9. การตัดแบบพิเศษ
9.1 การเพล่มุมหรือการลบมุม
การเพล่มุม หมายถึง การตัดขอบไม้จากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ในการตัดจะต้องตัดเป็นมุม ส่วนการลบมุม หมายถึง การลบมุมที่มุมหรือเหลี่ยมของไม้ที่ได้ฉากแล้ว การลบจะลบไปโดยตลอดความยาวของไม้ก็ได้หรือจะลบไม่ตลอดก็ได้
การเพล่มุมหรือการลบมุมตามเสี้ยนไม้ : ในการเพล่มุมหรือลบมุมตามเสี้ยนไม้ ให้ปรับใบเลื่อย เอียงไปที่มุมตามต้องการติดตั้งรั้วซอยเข้ากับแท่นเลื่อย ดังนั้น ใบเลื่อยจะเอียงออกจากรั้วซอย ปรับความสูงของใบเลื่อยให้ฟันเลื่อยสูงพ้นขึ้นมาจากชิ้นงานเล็กน้อย จับงานให้แน่นและชนกับรั้วซอยขณะทำการตัด
การเพล่มุมหรือลบมุมขวางเสี้ยนไม้ :ในการเพล่มุมหรือลบมุมขวางเสี้ยนไม้ ให้ปรับใบเลื่อยเอียงไปที่มุมตามต้องการติดตั้งเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดทางด้านที่ใบเลื่อยเอียงออก (ด้านซ้ายของใบเลื่อย) จับงานให้แน่นกับรั้วตัดขณะทำการตัด การใช้ปากกาจับยึดไม้เข้ากับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดก็จะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

10. การตัดเพลาะ
การตัดเพลาะเป็นการตัดเพื่อเพลาะไม้เข้าด้วยกัน การตัดแบบนี้ควรจะตัดด้วยใบเลื่อยแบบตัด แบบไส หรือแบบผสม เพราะการเพลาะไม้จะต้องการรอยตัดที่เรียบมาก เพื่อให้สามารถเพลาะไม้เข้าด้วยกันอย่างแน่นสนิท การตัดแบบนี้ ได้แก่ การตัดบังใบ การตัดปากกบ และการตัดเดือย

                10.1 การตัดบังใบ
วิธีการตัดบังใบด้วยเครื่องเลื่อยวงเดือนที่ใช้กันโดยทั่วไป จำแนกออกได้เป็น2วิธีคือ
วิธีที่1 :โดยการตัด2ครั้งด้วยใบเลื่อย
ร่างแบบความกว้างและความลึกของบังใบลงบนปลายหรือขอบไม้ที่จะทำ แบบที่ร่างจะต้องชัดเจนมองเห็นได้ง่ายขณะทำงาน ปรับใบเลื่อยให้สูงขึ้นเท่ากับความลึกของบังใบ ถ้าบังใบตัดไปตามเสี้ยนไม้ ให้วางไม้คว่ำลงบนโต๊ะโดยให้ขอบแนบชิดกับรั้วซอยแล้วทำการตัดรอยแรก ถ้าบังใบตัดขวางเสี้ยนไม้ ให้วางไม้คว่ำลงบนโต๊ะจากนั้นจับไม้ให้แน่นกับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัด โดยให้ขอบไม้แนบชิดกับรั้วซอยแล้วจึงทำการตัด สำหรับการตัดรองที่สอง ปรับใบเลื่อยให้สูงขึ้นมาเท่ากับความกว้างของบังใบและปรับรั้วซอยกับใบเลื่อยเพื่อให้ใบเลื่อยอยู่ด้านในเส้นที่ร่างของบังใบ จับไม้ให้แน่นโดยต้องให้ห่างออกมาจากส่วนที่จะบังใบ และให้แนบชิดกับรั้วซอยแล้วจึงทำการตัดรอยที่สอง ในการตัดรอยที่สอง การเอาขอบหรือด้านที่แนบกับรั้วซอย เมื่อตัดรอยแรกแนบเข้ากับพื้นโต๊ะแล้ว ก็จะสามารถป้องกันเศษไม้จากการตัดเกิดการตีกลับได้
วิธีที่2 : การใช้หัวเซาะร่อง
ติดตั้งหัวเซาะร่องเข้ากับเครื่องเลื่อย ใช้ไม้ขนาดพอๆ กับรั้วซอยยึดเข้ากับรั้วซอย ปากกาที่ใช้ยึดจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ไม่รบกวนการทำงานระหว่างการทำเซาะ ปรับรั้วซอยไปในตำแหน่งที่ต้องการตามขนาดความกว้างของบังใบที่จะเซาะ ปรับหัวเซาะร่องให้อยู่ในระดับเท่ากับความลึกของบังใบ กดไม้ลงบนพื้นโต๊ะและแนบเข้ากับไม้ที่ยึดกับรั้วซอยให้แน่นขณะทำการเซาะ เพื่อหลีกเลี่ยงความลึกของการเซาะที่ไม่สม่ำเสมอ
หมายเหตุ :การติดตั้งไม้เข้ากับรั้วซอยก็เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการที่หัวเซาะร่องอาจเสียดสีเข้ากับรั้วซอยอันจะ      ทำให้เกิดความเสียหายได้

                10.2 การตัดปากกบ
การตัดปากกบ ตามปกติจะตัดที่มุม45องศา แม้ว่าจะสามารถตัดเป็นมุมอื่นๆ ได้ก็ตาม ถ้าไม้ที่จะตัดเป็นรูปแบบใดก็ตามที่นอกเหนือไปจากรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก็จะต้องหามุมการตัดที่ถูกต้อง สำหรับการหามุมการตัดสามารถหาได้โดยการหาร180องศาด้วยจำนวนด้าน ผลลัพธ์ที่ได้นำไปลบออกจาก90องศาก็จะได้มุมที่จะตัดตามที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการตัดกรอบรูปแบบ6ด้าน จะต้องตัดกรอบด้วยมุมเท่าใด

วิธีทำ :   180◦/6 = 30◦
90◦-30◦= 60◦       ตอบ

                การตัดปากกบแบบราบ :ให้ปรับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดตามต้องการ ปกติจะปรับไปที่มุม45องศา ถ้ามีเกจตัดปากกบหรือรั้วตัด2ตัวใช้ร่วมกันการตัดก็จะง่ายขึ้น ปรับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดทั้ง2ให้หันเข้าหาใบเลื่อย วางก้านกำหนดระยะที่เกจตัดปากกบหรือรั้วตัดตัวซ้ายให้เท่ากับระยะของด้านที่จะตัดจับไม้ให้แน่นกับเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดตัวขวาและตัดปากกบแรกจากขอบทางด้านในของขอบไม้เข้าสู่มุม เพื่อที่จะตัดปากกบที่สอง จับปลายปากบที่ตัดแล้วชนเข้ากับก้านกำหนดระยะแล้วดำเนินการตัดเหมือนครั้งแรก
หมายเหตุ :การตัดปากกบอาจใช้อุปกรณ์นำตัดช่วยควบคุมในการตัดก็จะช่วยให้การตัดมีความเที่ยงตรงมายิ่งขึ้น
การตัดปากกบที่ขอบ :ให้เอียงใบเลื่อยไปที่มุม45องศา (เอียงไปทางด้านซ้าย) และปรับตั้งเกจตัดปากกบหรือรั้วตัดที่มุม90องศา ติดตั้งเกจปากกบหรือรั้วตัดเข้ากับร่องทางด้านขวาของใบเลื่อย ดังนั้นใบเลื่อยจะเอียงออกจากเกจตัดปากกบหรือรั้วตัด ปรับความสูงชองใบเลื่อยให้ถูกต้องแล้วจึงทำการตัด

                10.3 การตัดเดือย
การตัดเดือยมีวิธีการตัด2วิธีคือ การตัดด้วยใบเลื่อย และการตัดด้วยหัวเซาะร่อง
การตัดเดือยด้วยใบเลื่อย
1. ปรับรั้วให้ระยะระหว่างขอบทางด้านซ้ายของใบเลื่อยกับรั้วเท่ากับระยะความยาวของเดือยที่จะตัด
2. ปรับความสูงของใบเลื่อยให้ซี่ฟันที่สูงที่สุดเท่ากับความลึกของเดือยที่จะตัด
3. จับชิ้นงานเข้ากับไมเตอร์เกจหรือรั้วตัดให้แน่นแล้วทำการตัดบ่าเดือย
4. กลับด้านแล้วทำการตัดอีกด้านหนึ่งตามลำดับขั้นที่3
5. ปรับรั้วให้ระยะระหว่างขอบทางด้านขวาของใบเลื่อยกับรั้วเท่ากับระยะความลึกของเดือยที่จะตัด
6. ปรับความสูงของใบเลื่อยให้ซี่ฟันที่สูงที่สุดเท่ากับระยะความยาวของเดือยที่จะตัด
7. จับชิ้นงานแนบกับรั้วให้แน่นแล้วทำการตัดแก้มเดือย
หมายเหตุ : การควบคุมการตัดแก้มเดือยด้วยมอค่อนข้างอันตราย วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การใช้อุปปกรณ์นำตัดเดือย (tenon jig)
การตัดด้วยหัวเซาะร่อง
ลำดับขั้นในการตัดเดือยด้วยหัวเซาะร่องที่ถูกต้อง มีดังนี้
1. ติดตั้งหัวเซาะร่องเข้ากับเครื่องเลื่อยและปรับให้สูงเท่ากับความลึกของเดือยที่จะตัด
2. ปรับรั้วระยะระหว่างขอบทางด้านซ้ายของหัวเซาะร่องกับรั้วเท่ากับระยะความยาวของเดือยที่จะตัด
3. จับชิ้นงานเข้ากับไมเตอร์เกจหรือรั้วตัดให้แน่นโดยให้ด้านปลายไม้ที่จะตัดเดือยชนเข้ากับรั้วแล้วจึงทำการตัดบ่าเดือย
4. ถอยชิ้นงานกลับมาในตำแหน่งเดิม เลื่อนชิ้นงานไปทางซ้ายแล้วจึงทำการตัดตามลำดับขั้นที่3
5. ดำเนินการตามลำดับขั้นที่4 จนเสร็จ
6. กลับด้านแล้วทำการตัดอีกด้านหนึ่งตามลำดับขั้นที่3ถึง5จนเสร็จ

11. การเซาะร่อง
การเซาะร่องหรือราง จะมีทั้งการเซาะตามเสี้ยนไม้และการเซาะขวางเสี้ยนไม้
11.1 การเซาะร่องตามเสี้ยนไม้
การเซาะร่องตามเสี้ยนไม้ที่ถูกต้อง มีวิธีง่ายๆ อยู่ด้วยกัน3วิธีคือ
วิธีที่1 : ตัดด้วยใบเลื่อยมาตรฐาน2ครั้งหรือมากกว่า
ปรับความสูงของใบเลื่อยให้เท่ากับความลึกของร่องที่จะเซาะปรับรั้วซอยเพื่อให้ใบเลื่อยเซาะร่องทางด้านข้างด้านหนึ่งแล้วทำการเซาะครั้งที่หนึ่ง หมุนกลับไม้ให้หน้าที่สองชนกับรั้วซอยแล้วทำการเซาะครั้งที่2 การทำในลักษณะนี้จะแน่ใจได้ว่าร่องจะอยู่ในศูนย์กลางของไม้ เพื่อความแน่ใจให้ตรวจสอบความแม่นยำกับชิ้นไม้ที่จะใช้สอดเข้าไปในร่องที่จะเซาะก่อนที่จะดำเนินการ เมื่อเซาะร่องด้านนอกทั้งสองด้านกับไม้ทุกชิ้นแล้ว ให้เลื่อนรั้วซอยเข้า-ออกตามความจำเป็นและเซาะเพื่อขจัดเนื้อไม้ส่วนที่เหลือออกให้หมด
วิธีที่2 : ใช้แหวนรองแบบส่าย
ถอดแหวนรองแบบมาตรฐานที่ใช้ตรึงใบเลื่อยเข้ากับแกนหมุนของใบเลื่อยออกแล้วใส่แหวนรองแบบส่าย (wobble washer) เข้าไปแทนที่ ปรับระดับความสูงของใบเลื่อยให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ปรับตำแหน่งของรั้วซอยแล้วจึงทำการเซาะ การเซาะร่องหรือรางด้วยวิธีนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะใบเลื่อยจะส่ายไป-มาตลอดเวลาขณะที่หมุน จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
การใช้แหวนรองแบบส่ายจะทำให้ใบเลื่อยส่ายไป-มาขณะหมุน จึงสามารถเซาะร่องได้กว้างตามต้องการ ที่แหวนแบบนี้จะมีเครื่องหมายที่ตัวแหวนสำหรับตั้งความกว้างในการตัด
วิธีที่3 : ใช้หัวเซาะร่อง
วิธีนี้เป็นวิธีเซาะร่องที่ปลอดภัยที่สุดและเซาะได้รวดเร็วที่สุด หัวเซาะร่องจะประกอบด้วยใบตัด (cutter) ทางด้านนอก2ใบกับใบถาก (chipper) ที่อยู่ระหว่างกลาง ขั้นแรกให้ถอดแผ่นสอดแท่นเลื่อยและใบเลื่อยออก ใส่ใบตัดของหัวเซาะร่องตัวที่หนึ่งเข้ากับแกนเพลาของใบเลื่อย จากนั้นให้ใส่ใบถากในจำนวนที่ถูกต้องเข้าไปให้ได้ความกว้างของร่องตามที่ต้องการ สุดท้ายให้ใส่ใบตัดของหัวเซาะร่องตัวที่สองเข้าไป ปกติใบตัดของหัวเซาะร่องและใบถากแบบมาตรฐานจะมีขนาดกว้าง1/16, 1/18และ1/4นิ้ว (2,3และ6มิลลิเมตร) จึงทำให้สามารถเซาะร่อวขนาดมาตรฐานใดๆ ก็ได้ ดังนั้น ในการกำหนดขนาดของร่องให้กำหนดตามขนาดของใบตัดของหัวเซาะร่องและใบถากมาตรฐานเป็นเกณฑ์
หมุนใบถากจนกระทั่งปลายของคมตัดอยู่ระหว่างฟันตัดของหัวเซาะร่องที่อยู่ทางด้านนอก จัดช่องว่างระหว่างปลายคมตัดของใบถากให้ห่างกันอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่าง ถ้าใช้ใบถาก3ใบ จะต้องปรับให้ใบถากแต่ละใบห่างกัน120 องศา ก็จะทำให้หัวเซาะร่องสามารถทำงานได้อย่างราบเรียบ หลังปรับใบถากหัวเซาะร่องเรียบร้อยแล้วให้ติดตั้งแผ่นสอดแท่นเลื่อยที่ออกแบบมาให้ใช้สำหรับหัวเซาะร่องโดยเฉพาะเข้าแทนที่แผ่นสอดแท่นเลื่อยตัวเดิม จากนั้นปรับระยะระหว่างหัวเซาะร่องกับรั้วซอยให้ได้ตามต้องการแล้วจึงทำการเซาะร่อง

                11.2 การปรับหัวเซาะร่องแบบปรับได้
หัวเซาะร่องแบบปรับได้ จะทำให้ง่ายต่อการใช้งานและจะทำให้ร่องที่เซาะสะอาด ความกว้างของร่องที่เซาะสามารถที่จะปรับได้โดยการคลายนอตยึดแกนเพลา และหมุนให้ส่วนที่เป็นศูนย์กลางของหัวเซาะร่องจนกระทั่งเครื่องหมายแสดงความกว้าง (width mark) บนส่วนนี้ อยู่ตรงกันข้ามกับขนาดที่ต้องการ การเซาะจะง่ายและแม่นยำที่ความกว้างตั้งแต่1/4ถึง3/4นิ้ว (6ถึง9มิลลิเมตร) ความลึกถึง3/4นิ้ว (19มิลลิเมตร)

                11.3 การเซาะร่องตามเสี้ยนไม้แบบปิด
การเซาะร่องแบบนี้จะเซาะไม้ตลอดความยาวของไม้ แต่จะเซาะที่ส่วนหนึ่งส่วนใดตามที่กำหนดโดยที่ทางด้านหัว-ท้ายของไม้จะไม่ถูกเซาะ ในการเซาะร่องแบบนี้ให้ใช้ปากกาไม้ (hand screw) เป็นแท่งกำหนดระยะเพื่อควบคุมความยาวในการเซาะ ด้วยการยึดปากกาไม้เข้ากับรั้วซอยโดยตัวหนึ่งยึดเข้าทางด้านหน้าอีกตัวหนึ่งยึดเข้าทางด้านท้าย เปิดเครื่อง จับปลายด้านหนึ่งของไม้ที่จะเซาะให้ชนเข้ากับปากกาตัวแรกแล้วค่อยๆ ลดลงสู่ใบเลื่อย ค่อยๆ ดันไม้ไปตามรั้วซอยจนกระทั่งชนเข้าปากกาตัวที่สอง แล้วยกไม้ขึ้นด้วยความระมัดระวัง

                11.4 การเซาะร่องขวางเสี้ยนไม้
การเซาะร่องขวางเสี้ยนไม้แบบธรรมดา :การเซาะร่องขวางเสี้ยนไม้แบบธรรมดา (plain dado) นี้ จะเป็นการเซาะไปตลอดความกว้างของหน้าไม้ การเซาะแบบนี้สามารถที่จะทำได้ในทางใดทางหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในการเซาะรั้วซอยสามารถใช้ช่วยทดแทนแท่งกำหนดระยะได้ ขณะไม้ที่เซาะจะต้องยึดแน่นเข้ากับรั้วตัด เมื่อเซาะร่องแบบธรรมดา ให้ดันไม้ข้ามหัวเซาะจากนั้นยกไม้ออก อย่าลากไม้ที่เซาะแล้วข้ามหัวเซาะกลับมาเพราะอันตรายมาก นี่เป็นข้อระวังที่สำคัญมากเมื่อใช้หัวเซาะร่อง
การเซาะร่องขวางเสี้ยนไม้แบบปิด : การเซาะร่องขวางเสี้ยนไม้แบบปิด (blind dado) เป็นการเซาะร่องเพียงบางส่วนในแผ่นไม้ การเซาะแบบนี้ให้ยึดแท่งกำหนดระยะเข้ากับพื้นโต๊ะเพื่อควบคุมระยะของร่องที่เซาะ ทำการเซาะเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจนไม้ที่เซาะชนเข้ากับแท่งกำหนดระยะ จากนั้นค่อยๆ ยกไม้ขึ้น หรือปิดเครื่องแล้วนำไม้ออกมาจากเครื่องเลื่อย

 

 

 

 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Free Web Hosting