เครื่องเจอะเดือย(drill press) เป็นเครื่องมือที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ในการเจาะ (drill) และคว้าน (boring) รูกลม นอกจากนั้น เครื่องสว่านแท่นพร้อมอุปกรณ์ประกอบอื่นยังสามารถใช้กับงานอื่นๆ ได้อีก เช่น ใช้ในการเจาะรูเดือยเหลี่ยม (mortising) ขึ้นรูปชิ้นงาน (shaping) กัดชิ้นงาน (routing) ขัดชิ้นงาน (sanding) และอื่นๆ เครื่องมือชนิดนี้จะให้ความเที่ยงตรงสูง และสามารถทำงานได้รวดเร็วกว่าสว่านที่ใช้มือมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรูที่เป็นมุมและรูขนาดใหญ่ จึงเป็นที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน

2.แบบและขนาด
                เครื่องสว่านแท่นมีหลายแบบหลายขนาด มีทั้งแบบตั้งพื้น (floor type) และแบบตั้งโต๊ะ (bench type) แบบที่นิยมใช้กับงานไม้โดยทั่วไปส่วนใหญ่ได้แก่ แบบตั้งโต๊ะ สำหรับขนาดจะกำหนดจากเส้นผ่านศูนย์กลางของชิ้นงานที่เป็นวงกลมที่โตที่สุดที่เครื่องสามารถเจาะรูที่เส้นผ่านศูนย์กลางได้ ตัวอย่างเช่น เครื่องสว่านแท่นขนาด15นิ้ว (375มิลลิเมตร) จะสามารถเจาะศูนย์กลางของพื้นโต๊ะกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง15นิ้ว (375มิลลิเมตร) เป็นต้น ขนาดมาตรฐานจะเริ่มตั้งแต่14นิ้ว (350มิลลิเมตร) ถึง20นิ้ว (510มิลลิเมตร)
                ดอกสว่านที่ใช้กับเครื่องสว่านแท่น จะต้องเป็นแบบก้านกลมตรงมีเกสรที่ปลาย ดอกสว่านที่ใช้กับสว่านที่ใช้มือ ไม่สามารถที่จะนำมาใช้กับเครื่องสว่านแท่นได้ เพราะก้านของดอกสว่านจะแตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรระมัดระวังไม่ใช้ปะปนกัน

3. ส่วนประกอบที่สำคัญ
ส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องสว่านแท่น มีดังนี้
3.1 ฐานเครื่อง
ฐานเครื่อง (base) จะทำด้วยเหล็กหล่อ ใช้ทำหน้าที่รองรับตัวเครื่องทั้งหมด และยึดเครื่องให้ติดกับพื้นหรือโต๊ะปฏิบัติงาน
3.2 เสาเครื่อง
เสาเครื่อง (column) จะทำจากเหล็กเพลากลึงเรียบ ใช้ทำหน้าที่รองรับหัวเครื่องและแท่นเครื่อง
3.3 แท่นเครื่อง
แท่นเครื่อง (table) บางครั้งเรียกแท่นเจาะ จะทำหน้าที่รองรับชิ้นงานที่จะเจาะ แท่นเครื่องสามารถปรับและล็อกให้อยู่ในตำแหน่งใดๆ ก็ได้ การเอียงสามารถทำได้ด้วยการดึงหมุดล็อกที่อยู่ใต้แท่นออกแล้วเอียงแท่นไปในตำแหน่งที่ต้องการ ปกติจะทำให้เอียงได้ที่45 องศาไปทางซ้ายหรือขวา และอยู่ในแนวราบหรือแนวดิ่ง
3.4 หัวเครื่อง
หัวเครื่อง (head stock) จะประกอบไปด้วยมอเตอร์ สายพาน และพูลเล่ย์ เป็นต้นกำลังในการหมุนถ่ายทอดกำลังและเปลี่ยนแปลงความเร็วในการหมุนของหัวจับ
3.5 มอเตอร์
มอเตอร์ (motor) จะติดตั้งอยู่ในส่วนของหัวเครื่อง ทำหน้าที่เป็นต้นกำลังในการขับให้แกนหมุนและหัวจับหมุน โดยถ่ายทอดผ่านทางสายพานและพูลเล่ย์
3.6 แกนหมุน
แกนหมุน (spindle) จะทำหน้าที่ในการถ่ายทอดกำลังและความเร็วในการหมุนจากมอเตอร์ไปสู่หัวจับ แกนหมุนจะหมุนอยู่ในปลอกแกนหมุน (quill) อีกทีหนึ่ง
3.7 หัวจับ
หัวจับ (chuck) จะทำหน้าที่สำหรับจับดอกสว่านที่ใช้ในการเจาะ หัวจับจะติดตั้งอยู่ที่ปลายของแกนหมุน สามารถถอดออกเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ประกอบอื่นเข้าแทนที่ เพื่อใช้กับงานอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากงานเจาะชิ้นงาน
3.8 สวิตช์
สวิตช์ (switch) จะทำหน้าที่ในการเปิด-ปิดเพื่อควบคุมการทำงานของมอเตอร์หรือเครื่องสว่านแท่น
3.9 ที่ยึดล็อกแท่นเครื่อง
ที่ยึดล็อกแท่นเครื่อง (table locking clamp) จะทำหน้าที่ในการยึดล็อกแท่นเครื่องหลังปรับตั้งที่ได้แล้ว
3.10 เกจกำหนดความลึก
เกจกำหนดความลึก (depth gage) จะทำหน้าที่ในการกำหนดความลึกในการเจาะให้ได้ความลึกตามความต้องการ ที่เกจกำหนดความลึกจะมีที่หยุดการป้อนเพื่อควบคุมความลึกในการเจาะไม่ให้ลึกเกินกว่าที่กำหนด
3.11 คันป้อนเจาะ
คันป้อนเจาะ (feed lever) จะให้สำหรับทำให้ดอกสว่านเลื่อนลงเจาะชิ้นงานหรือผ่อนให้ดอกสว่านถอยออกจากชิ้นงานได้ตามต้องการ โดยการกดคันป้อนเมื่อต้องการเจาะชิ้นงาน หรือผ่อนคันป้อนเมื่อต้องการให้ดอกสว่านถอยออกจากชิ้นงาน
3.12 ปุ่มปรับความตึงสายพาน
ปุ่มปรับความตึงสายพาน (belt tension knob) จะทำหน้าที่ในการปรับความตึงของสายพานที่ใช้ขับแกนหมุนและหัวจับให้เหมาะสม
3.13 ฝาครอบป้องกันอันตรายสายพานและพูลเล่ห์
ฝาครอบป้องกันอันตรายสายพานและพูลเล่ห์ (safety guard for belt and pulley) นี้ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันอันตรายมิให้เกิดกับผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้น ในการทำงานทุกครั้งฝาครอบป้องกันอันตรายนี้จะต้องอยู่ในที่เสมอ

4. ดอกสว่าน
ดอกสว่านเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการเจาะชิ้นงาน มีหลายชนิดหลายขนาดให้เลือกใช้ได้ตามต้องการ ในการเลือกดอกสว่านจะต้องคำนึงถึงวัสดุที่เจาะและประเภทของงานที่จะทำ เช่น ไม้เนื้ออ่อนและใช้ความเร็วสูงขณะที่ไม้เนื้อแข็งจะใช้ความเร็วต่ำ การเจาะรูขนาดใหญ่หรือเมื่อใช้ดอกสว่านขนาดใหญ่ก็จะต้องใช้ความเร็วต่ำ ขณะที่การเจาะรูขนาดเล็กหรือเมื่อใช้ดอกสว่านขนาดเล็กก็จะต้องใช้ความเร็วสูง เป็นต้น
โดยทั่วไปดอกสว่านขนาดสูงถึง1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร) จะต้องใช้ความเร็วประมาณ2,000ถึง3,000รอบต่อนาที ขนาดตั้งแต่1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร) ถึง1นิ้ว (25มิลลิเมตร) จะใช้ความเร็วประมาณ1,000ถึง2,000รอบต่อนาที ส่วนขนาดที่โตกว่า1นิ้ว (25มิลลิเมตร) จะใช้ความเร็วประมาณ300ถึง500รอบต่อนาที สำหรับการขึ้นรูปและการกัดชิ้นงาน จะใช้ความเร็วประมาณ4,000ถึง5,000รอบต่อนาที เนื่องจากต้องการความละเอียดสูง
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอก็คือ จะต้องไม่นำดอกสว่านที่ใช้กับสว่านที่ใช้มือมาใช้กับเครื่องสว่านแท่นเป็นอันขาดแม้ว่าจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายกัน เพราะก้านจะแตกต่างกัน ดอกสว่านที่ใช้กับสว่านที่ใช้มือนั้นจะเป็นแบบก้านเหลี่ยม ขณะที่ดอกสว่านที่ใช้กับสว่านแท่นจะเป็นก้านกลม ดังนั้น ในการนำมาใช้งานจึงควรระมัดระวัง เพราะนอกจากจะทำให้ชิ้นงานเกิดความเสียหายได้แล้ว ยังจะทำให้เกิดอันตรายขั้นร้ายแรงได้
สำหรับดอกสว่านที่ใช้กับเครื่องดอกสว่านแท่นแบบต่างๆ มีดังนี้
4.1ดอกเกลียว
ดอกเกลียว (machine spur bit) เป็นดอกสว่านที่ใช้กับงานเอนกประสงค์ ดอกสว่านชนิดนี้ จะทำให้รูที่เจาะเรียบและให้ความเที่ยงตรงดี มีขนาดตั้งแต่3/16นิ้ว (5มิลลิเมตร) ถึง1¼นิ้ว (32มิลลิเมตร) โตขึ้นขนาดละ1/32นิ้ว (1มิลลิเมตร) ก้านโต1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร) และจะมีเกสรที่ปลายดอก ดอกสว่านชนิดนี้เหมาะกับการใช้เจาะรูขนาด3/4นิ้ว (19มิลลิเมตร) หรือเล็กกว่า
4.2 ดอกหลายคมตัด
ดอกหลายคมตัด (multi-spur bit) เป็นดอกสว่านที่ใช้ในการเจาะรูขนาดใหญ่ รูโตกว่า3/4นิ้ว (19มิลลิเมตร) แต่ถ้าไม่สามารถหาขนาดที่ต้องการได้ก็ให้ใช้ดอกขยายแทนก็ได้ ดอกสว่านชนิดนี้ จะทำให้รูเจาะที่เรียบและให้ความเที่ยงตรงได้ดีด้วยเช่นกัน ก้านโต1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร) มีเกสรที่ศูนย์กลางของดอก สามารถตัดไม้อัดแผ่นบางได้โดยไม่บิ่น ตัดไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อนได้ดีเท่าๆ กัน ใช้เมื่อต้องการให้ก้นรูที่เจาะเรียบ ขนาดที่ใช้กันโดยทั่วไปได้แก่ ขนาด1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร) ถึง2นิ้ว (50มิลลิเมตร) อย่างไรก็ตาม ขนาดที่โตกว่านี้ก็มีเช่นกัน
การใช้ดอกสว่านชนิดนี้จะต้องยึดชิ้นงานเข้ากับแท่นเครื่องอย่างแน่นหนา เพราะคมตัดของดอกสว่านมีแนวโน้มที่จะทำให้ชิ้นงานหมุนตามไปด้วย ในการเจาะจะต้องแน่ใจว่าเกสรของดอกสว่านอยู่ที่จุดศูนย์กลางของรูที่จะเจาะที่ได้นำศูนย์ไว้ สำหรับความเร็วที่ใช้ให้ใช้ความเร็วต่ำ แต่ถ้าชิ้นงานที่จะเจาะบางมากก็ให้ใช้ดอกขยายเจาะแทน
            4.3 ดอกขูด
ดอกขูด (Forster bit) ดอกสว่านชนิดนี้จะใช้คมตัดที่ขอบของดอกสว่านเป็นตัวนำเจาะ ใช้ในการเจาะเมื่อต้องการให้ก้นรูที่เจาะเรียบ มีขนาดตั้งแต่1/4นิ้ว (6มิลลิเมตร) ถึง3นิ้ว (75มิลลิเมตร) ดอกสว่านชนิดนี้จะไม่มีเกสรหรือเกลียวนำเหมือนกับดอกสว่านชนิดอื่น
4.4 ดอกบิด
ดอกบิด (twist drill) ดอกสว่านชนิดนี้ จะมีขนาดตั้งแต่1/16นิ้ว (2มิลลิเมตร) ถึง1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร) โตขึ้นขนาดละ1/64นิ้ว (0.5มิลลิเมตร) ใช้ได้กับสว่านทุกชนิดทั้งสว่านมือ สว่านไฟฟ้าแบบมือถือ และเครื่องสว่านแท่น ทั้งในการเจาะไม้ โลหะ และอื่นๆ ใช้สำหรับเจาะรูขนาดเล็กเพื่อการฝังเดือย ใส่สลักเกลียว และเจาะนำเพื่อฝังตะปูเกลียวสำหรับงานไม้ สำหรับรูขนาด1/4นิ้ว (6มิลลิเมตร) หรือโตกว่าให้ใช้ดอกสว่านแบบเกลียว หรือดอกสว่านแบบหลายคมตัด ดอกสว่านนี้จะให้รูที่สะอาดและเที่ยงตรงมากกว่าในรูขนาดใหญ่
4.5 ดอกขุด
ดอกขุด (spade bit) ดอกสว่านชนิดนี้ ปลายของดอกลักษณะรูปร่างคล้ายเสียมแต่แบน ก้านโต1/4นิ้ว (6มิลลิเมตร) มีขนาดตั้งแต่1/4นิ้ว (6มิลลิเมตร) ถึง1½นิ้ว (38มิลลิเมตร) โตขึ้นขนาดละ1/16นิ้ว (2มิลลิเมตร) ดอกสว่านแบบนี้จะตัดได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เกิดการอุดตัน แต่รูที่เจาะค่อนข้างหยาบ ดอกสว่านชนิดนี้จะมีเกสรที่ปลายดอก
4.6 ดอกฟันเลื่อย
ดอกฟันเลื่อย (hole saw) ดอกสว่านชนิดนี้ จะใช้สำหรับเจาะรูขนาดใหญ่ทะลุชิ้นงาน มีขนาดตั้งแต่1/16นิ้ว (2มิลลิเมตร) ถึง1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร) อย่างไรก็ตาม ขนาดที่โตกว่านี้ก็มีเช่นกัน ดอกสว่านชนิดนี้จะมีดอกเจาะขนาดเล็กอยู่ที่ศูนย์กลางของดอกแทนเกสร
4.7 ดอกคว้าน
ดอกคว้าน (power bore bit) ดอกว่านชนิดนี้ จะมีขนาดตั้งแต่3/8นิ้ว (9มิลลิเมตร) ถึง1นิ้ว (25มิลลิเมตร) โตขึ้นขนาดละ1/8นิ้ว (3มิลลิเมตร) ดอกสว่านชนิดนี้สามารถตัดได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เกิดการอุดตันด้วยเช่นกัน ดอกสว่านชนิดนี้จะมีเกสรที่ปลายดอก
4.8 ดอกขยาย
ดอกขยาย (expansion bit or circular bit) ดอกสว่านชนิดนี้ ที่ปลอกก้านส่วนปลายของดอกจะเป็นที่ติดตั้งดอกเจาะ ส่วนที่ปลอกก้านส่วนกลางจะมีแขนต่อออกไปสำหรับติดตั้งใบมีดตัด แขนดังกล่าวสามารถปรับเลื่อนเข้า-ออกได้ จึงทำให้ดอกสว่านชนิดนี้สามารถเจาะหรือตัดวงกลมได้หลายขนาดตามความต้องการ

5. กฎแห่งความปลอดภัย
กฎแห่งความปลอดภัยในการใช้เครื่องสว่านแท่นในการเจาะชิ้นงาน มีดังนี้
1. การปรับตั้งเครื่องสว่านแท่นจะต้องกระทำในขณะที่เครื่องไม่ทำงานและดอกสว่านไม่หมุน การถอด      ปลั๊กสายไฟออกขณะทำการปรับตั้งเครื่องจะช่วยให้มีความปลอดภัยสูง
2. ดอกสว่านที่ใช้จะต้องคมและยึดแน่นอยู่กับหัวจับเสมอ
3. ระยะระหว่างแท่นเครื่องกับดอกสว่านที่เจาะ จะต้องได้รับการปรับตั้งอย่างถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงดอก      สว่านเจาะลงในแท่นเครื่อง
4. อย่าทิ้งจำปา(chuck wrench) คาไว้หัวจับ แต่ให้ถอดจำปาออกทันทีหลังจากการติดตั้งหรือการถอดดอก    สว่านเสร็จเรียบร้อยแล้ว
5. ให้ยึดชิ้นงานขนาดเล็กที่จับด้วยมือไม่ถนัดด้วยที่จับยึด หรือจับยึดชิ้นงานไว้ด้วยที่จับยึดเช่นกันเมื่อเจาะรู               ขนาดใหญ่ เพราะการหมุนของดอกสว่านอาจจะดึงชิ้นงานออกไปจากมือทำให้ได้รับอันตรายได้
6. อย่าใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดกุม ถ้าเป็นเสื้อแขนยาวควรพับแขนเสื้อให้เรียบร้อยเหนือศอก ชายเสื้อต้องใส่ไว้ใน                กางเกงให้เรียบร้อย และถ้าผมยาวควรรวบผมให้เรียบร้อยเสียก่อนเสมอ
7. อย่าให้นิ้วมืออยู่ใกล้กับดอกสว่านมากเกินไปขณะที่ทำการเจาะ
8. ให้ใช้ดอกสว่านชนิดก้านกลมเท่านั้นกับเครื่องสว่านแท่น ห้ามใช้ดอกสว่านชนิดก้านเหลี่ยมโดยเด็ดขาด              เพราะดอกสว่านชนิดนี้จะใช้กับสว่านที่ใช้มือเท่านั้น
9. เมื่อใช้เครื่องสว่านแท่นกับอุปกรณ์พิเศษเพื่อการขัด การกัด การขึ้นรูป หรือการเจาะรูเดือยเหลี่ยม จะต้อง              ปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์นั้นๆ
10. การทำงานแต่ละงานจะต้องใช้ความเร็วในการทำงานให้ถูกต้อง โดยจะต้องพิจารณาจากขนาดของรูที่  เจาะและความแข็งของชิ้นงานเป็นเกณฑ์ เช่น ถ้ารูที่จะเจาะมีขนาดใหญ่ให้ใช้ความเร็วต่ำหรือใช้ความเร็ว   สูงเมื่อเจาะไม้เนื้ออ่อน เป็นต้น
11. ขณะทำการเจาะอย่ากดดอกสว่านมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เครื่องทำงานเกินกำลังและรูที่เจาะไหม้             ได้
12. ถ้าดอกสว่านติดแน่นกับรูที่เจาะขณะที่ทำการเจาะ ให้ปิดสวิตช์เครื่องทันทีและถอยออกมาจากตัวเครื่อง               รอจนกว่าเครื่องจะหยุดสนิทจึงค่อยถอดชิ้นงานออกจากตัวเครื่อง
13. ห้ามใช้นิ้วเขี่ยเศษที่เกิดจากการเจาะแต่ให้ใช้แปรงแทน เพราะการใช้นิ้วอาจทำให้ได้รับอันตรายได้
14. การเจาะรูลึกๆจะต้องผ่อนการเจาะบ่อยๆ โดยการยกดอกเจาะขึ้นเพื่อคายเศษวัสดุออกจากดอกเจาะ       แล้วจึงค่อยเจาะลงไปใหม่ การทำในลักษณะนี้นอกจากจะเป็นการทำความสะอาดดอกเจาะแล้ว ยังเป็นการ       ระบายความร้อนให้กับดอกเจาะได้อีกด้วย
15. หลังเสร็จงานและปิดสวิตช์เครื่องแล้ว ให้รอจนกว่าเครื่องจะหยุดหมุนแล้วจึงค่อยออกจากตัวเครื่อง

6. การเตรียมเครื่องสว่านแท่น
6.1 การติดตั้งดอกสว่าน
ในการติดตั้งดอกสว่านเข้ากับหัวจับ ก่อนอื่นให้หาแผ่นไม้มาวางปิดที่แท่นเครื่องเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งคมตัดของดอกสว่านและแท่นเครื่องเกิดความเสียหายจากการกระทบกระทั่งกันในขณะที่ทำการติดตั้งดอกสว่านเข้ากับหัวจับ จากนั้นสอดก้านดอกสว่านเข้ากับหัวจับ หัวจับของเครื่องสว่านแท่นมาตรฐานจะจับก้านดอกสว่านได้โต1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร) หรือเล็กกว่า กรณีที่ดอกสว่านโตกว่านี้ก็ให้เปลี่ยนหัวจับให้โตขึ้นตามความเหมาะสม จากนั้นใช้จำปาขันโดยรอบให้แน่น จะต้องแน่ใจว่าได้ถอดจำปาออกจากหัวจับเรียบร้อยหลังขันแน่นแล้ว ถ้าไม่ถอดจำปาออกเมื่อเปิดเครื่องใช้งาน จำปาจะถูกเหวี่ยงกระเด็นออกมาด้วยความเร็วสูงซึ่งมีอันตรายร้ายแรงมาก

6.2 การตั้งความเร็ว
ความเร็วที่ใช้กับการทำงานไม้โดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง450ถึง4,700รอบต่อนาที ในการปรับตั้งความเร็วในการทำงานให้พิจารณาถึงขนาดของรูและความแข็งของชิ้นงานดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อที่4เป็นหลัก การปรับความเร็วให้ถูกต้องนอกจากจะทำให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังจะทำให้ผลงานออกมาดีและดอกสว่านมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นอีกด้วย
การปรับตั้งความเร็วของเครื่องสว่านและแท่นที่ใช้กันโดยทั่วไปมี2วิธีขึ้นอยู่กับการออกแบบ ได้แก่ วิธีปรับสายพานและพูลเล่ห์ (belt drives and step pulleys) และวิธีควบคุมการเปลี่ยนแปลงความเร็ว (variable-speed control)
สำหรับแบบที่ปรับด้วยสายพานและพูลเล่ห์นั้น เนื่องจากพูลเล่ห์ที่ใช้เป็นแบบขั้นบันได ดังนั้น ในการเปลี่ยนแปลงความเร็ว ก็สามารถที่จะทำได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงอัตราทดระหว่างพูลเล่ห์ตัวขับกับตัวตามใหม่ด้วยการโยกย้ายสายพานไปใช้กับพูลเล่ห์คู่ใหม่ การใช้พูลเล่ห์ด้านมอเตอร์ขนาดใหญ่คู่กับพูลเล่ห์ด้านแกนหมุนหรือหัวจับขนาดเล็ก ก็จะทำให้เครื่องมีความเร็วสูงขึ้นหลังปรับแล้วอย่าลืมปรับความตึงของสายพานใหม่และติดตั้งฝาครอบป้องกันอันตรายกลับที่เดิม อย่างไรก็ตาม การปรับตั้งความเร็วด้วยวิธีนี้ก็มีข้อระมัดระวัง คือ จะต้องถอดปลั๊กสายไฟออกเสียก่อนจึงจะปลอดภัย
ส่วนแบบควบคุมการเปลี่ยนแปลงความเร็วนั้น การปรับตั้งจะต้องกระทำในขณะที่เครื่องกำลังทำงานอยู่โดยการหมุนคันปรับเพื่อเพิ่มหรือลดความเร็วตามต้องการ

                6.3 การปรับแท่นเครื่อง
ในการปรับตั้งแท่นเครื่อง ขั้นแรกให้คลายที่ยึดแท่นเครื่องออกแล้วปรับแท่นเครื่องขึ้นหรือลงไปในตำแหน่งที่ต้องการ กรณีที่ใช้แท่งไม้รองรับชิ้นงานจะต้องให้มีระยะระห่างหว่างปลายของดอกสว่านกับชิ้นงานรวมแท่งไม้รองรับชิ้นงานประมาณ1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร) และจะต้องแน่ใจว่ารูที่แท่งเครื่องอยู่ในแนวเดียวกันกับดอกสว่าน และแท่นเครื่องตั้งได้ฉากกับดอกสว่านเพื่อที่จะเจาะรูได้ตรง แท่งไม้รองชิ้นงานจะต้องไสเรียบและหนาเท่ากันโดยตลอด แท่งไม้รองรับชิ้นงานที่หนาไม่เท่ากันจะทำให้รูที่เจาะเอียงได้ เมื่อแท่นเครื่องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วล็อกให้แน่น
กรณีที่ต้องเจาะทะลุชิ้นงาน แท่งไม้รองชิ้นงานที่รองรับทางด้านล่างของชิ้นงาน จะช่วยป้องกันการฉีกขาดของปากรูที่เจาะทางด้านล่างได้ นอกจากนั้น ยังจะช่วยป้องกันความเสียหายให้กับทั้งดอกสว่านและแท่นเครื่องได้อีกด้วยเช่นกัน

                6.4 การปรับระดับความลึกในการเจาะ
ก่อนอื่นให้กำหนดความลึกในการเจาะที่ชิ้นงานเสียก่อน ด้วยการใช้ดินสอขีดที่ระดับความลึกตามต้องการแล้ววางชิ้นงานลงบนแท่นเครื่อง ต้องแน่ใจว่าเครื่องไม่ทำงาน จากนั้นดึงคันป้อนเจาะลงจนกระทั่งปลายของดอกสว่านอยู่ในระดับเดียวกันกับเส้นดินสอที่ขีดไว้ ยึดปลอกแกนหมุนเพื่อยึดดอกสว่านไว้ในตำแหน่งนี้ ปรับตั้งเกจกำหนดความลึกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วล็อกตำแหน่งหยุดคันป้อนเจาะ จากนั้นจึงคลายที่ยึดปลอกแกนหมุนแล้วทดลองเจาะ

7. การเจาะและการคว้าน
ในงานเจาะและคว้านทั้งหมด จะต้องมีการกำหนดตำแหน่งที่จะเจาะโดยใช้เหล็กนำศูนย์รูเดือย ถ้าไม่มีให้ใช้เหล็กนำศูนย์ธรรมดาหรือเหล็กขีดทำเครื่องหมายในตำแหน่งที่จะเจาะ และเพื่อที่จะป้องกันไม้ที่ปากรูทางด้านล่างเกิดการฉีกขาดกรณีที่ต้องเจาะทะลุชิ้นงาน ก็ให้ใช้วิธีวางแท่งไม้รองทางด้านล่างของชิ้นงาน หรืออาจใช้วิธีกลับด้านในการเจาะ โดยหยุดการเจาะเมื่อดอกสว่านเริ่มเจาะชิ้นงานทางด้านล่าง จากนั้นให้กลับชิ้นงานจากด้านล่างมาด้านบนแล้วเจาะต่อไปจนเสร็จ ก็สามารถที่จะป้องกันการฉีกของไม้ได้
7.1 การเจาะรูตรง
การเจาะรูให้ตรงไม่สามารถที่กระทำได้ถ้าแท่นเครื่องไม่ตั้งได้ฉากกับดอกสว่าน ในการตรวจสอบให้ใช้ฉากลองทำการตรวจสอบ ปกติผู้ปฏิบัติงานสามารถจับยึดชิ้นงานด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งดึงคันป้อนเจาะลงเจาะชิ้นงาน แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าสามารถยึดชิ้นงานไว้ด้วยมือได้ให้ใช้ที่จับยึด ตัวอย่างเช่น การเจาะรูขนาดใหญ่ในชิ้นงานขนาดเล็ดซึ่งยากต่อการจับยึดด้วยมือก็จะต้องใช้ที่จับยึดแทน แต่อย่าลืมต้องให้นิ้วมืออย์ุ่ห่างออกมาจากดอกสว่านเสมอ
จัดแนวศูนย์กลางของรูที่จะเจาะให้ตรงกับปลายหรือเกสรของดอกสว่าน ค่อยๆป้อนดอกสว่านเข้าเจาะอย่างช้าๆ สำหรับรูขนาดใหญ่และต้องการเจาะลึกให้ผ่อนการเจาะด้วยการยกดอกสว่านขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อคายเศษที่เจาะออก ก็จะสามารถป้องกันการอุดตันของดอกสว่านได้ นอกจากนั้น ยังเป็นการช่วยระบายความร้อนให้กับดอกสว่านได้อีกด้วย
การเจาะรูตรงแนวดิ่งที่หัวไม้ จะต้องปรับแท่นเครื่องให้ขนานกับดอกสว่านเสียก่อน และยึดชิ้นงานเข้ากับแท่นอย่างมั่นคง แล้วจึงค่อยทำการเจาะ ส่วนกรณีที่ต้องการฝังหัวสกรูที่ใช้ยึดชิ้นงานให้เจาะรูขนาดใหญ่สำหรับฝังหัวสกรูก่อน แล้วจึงค่อยเจาะรูขนาดเล็กสำหรับก้านสกรูในภายหลัง

                7.2 การเจาะรูเป็นมุม
บ่อยครั้งที่จำเป็นต้องเจาะรูเป็นมุม เช่น การเจาะรูเดือยของขาโต๊ะหรือขาเก้าอี้ที่ต้องติดตั้งในลักษณะเป็นมุม ซึ่งการเจาะที่ว่านี้สามารถที่จะกระทำได้ง่ายดายด้วยเครื่องสว่านแท่น ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากแท่นเครื่องสามารถที่จะปรับเอียงทำมุมได้ ดังนั้น เพื่อที่จะปรับมุมรูที่จะเจาะ ให้ปรับฉากเลื่อนตัวทีหรือฉากเป็นไปที่มุมตามต้องการ จากนั้นคลายล็อกแท่นเครื่องแล้วจึงวางฉากลงบนแท่นเครื่อง ปรับเอียงแท่นเครื่องไปที่มุมตามมุมของฉากเลื่อนตัวที แล้วล็อกให้แน่น ถ้ามุมที่ปรับถูกต้องใบฉากจะต้องขนานกับดอกสว่าน
การเจาะรูเป็นมุมจะต้องยึดชิ้นงานเข้ากับแท่นเครื่องด้วยที่จับยึดเสมอ เพื่อป้องกันการลื่นไถลของชิ้นงาน สำหรับการเจาะรูขนาดค่อนข้างใหญ่ การยึดแท่งไม้ที่ตัดเอียงทำมุมเท่ากับมุมของแท่นเครื่องเข้ากับชิ้นงาน ก็จะช่วยให้การเจาะง่ายขึ้น เพราะจะช่วยให้ชิ้นงานตั้งได้ฉากกับดอกสว่าน จากนั้นจึงเจาะรูผ่านแท่งไม้ที่ประกบชิ้นงาน นอกจากนั้น แท่งไม้ที่ประกบที่ผ่านการเจาะรูแล้วยังสามารถใช้เป็นตัวนำเจาะชิ้นงานอื่นๆ ได้อีกด้วย
สำหรับการเจาะรูที่เป็นมุมผสมด้วยเครื่องสว่านแท่น ก็สามารถที่จะกระทำได้ด้วยการเอียงแท่นเครื่องและมุมของชิ้นงาน การกำหนดมุมเอียงของแท่นเครื่องที่สอดคล้องกับมุมของชิ้นงานสำหรับการเจาะรูเป็นมุมผสมได้

                ตารางแสดงมุมเอียงของแท่นเครื่องที่สอดคล้องกับมุมการเจาะชิ้นงานของการเจาะรูเป็นมุมผสม


มุมการเจาะ
เป็นองศา

มุมของแท่นเครื่อง
เป็นองศา

มุมการเจาะ
เป็นองศา

มุมของแท่นเครื่อง
เป็นองศา

2

12

16¾

3

13

18¼

4

14

19½

5

7

15

21

6

17½

24¼

7

20

27

8

11

22½

30¼

9

12¼

25

33

10

13¾

27½

36

11

15¼

30

39

                7.3 การเจาะรูชิ้นงานแท่งกลมและชิ้นงานรูปแบบอื่น
การเจาะชิ้นงานที่เป็นแท่งกลมและชิ้นงานรูปแบบอื่นนั้น จะต้องใช้วิธีพิเศษโดยการใช้อุปกรณ์จับยึดและรองรับชิ้นงานที่เป็นแท่งกลมหรือที่มีรูปร่างแบบอื่นควบคุมชิ้นงานขณะทำการเจาะ เช่น กรณีที่ชิ้นงานเป็นแท่งกลมให้ใช้แท่งไม้ที่บากเป็นรูปตัววีเป็นตัวรองรับและควบคุมชิ้นงาน สำหรับการเจาะในแนวตั้งหรือแนวดิ่งให้ใช้แท่งไม้ที่บากเป็นรูปตัววีร่วมกับที่จับยึด ช่วยควบคุมการเจาะ ส่วนการเจาะชิ้นงานรูปแบบอื่นก็อาจต้องใช้อุปกรณ์จับยึดหลายชนิดร่วมกันช่วยควบคุมการเจาะเช่นกัน

8. การทำงานแบบอื่นๆ
การใช้เครื่องแท่นสว่านร่วมกับอุปกรณ์ประกอบที่ถูกต้อง จะทำให้เครื่องสว่านแท่นสามารถใช้งานที่นอกเหนือไปจากการเจาะและคว้านได้อีกมากมาย เช่น สามารถใช้ในการขัดชิ้นงาน (sanding) การขึ้นรูปชิ้นงาน (shaping) การกัดชิ้นงาน (routing) และการเจาะรูเดือยเหลี่ยม (mortising) เป็นต้น
8.1 การขัดชิ้นงาน
การขัดชิ้นงานที่มีส่วนโค้งจะต้องใช้กระบอกขัด (sanding drum) เป็นตัวขัด สำหรับปลอกขัด (abrasive sleeves) ซึ่งเป็นตัวขัดจะสร้างให้สวมพอดีกับกระบอกขัด ก้านของกระบอกขัดที่ใช้ติดตั้งเข้าไปกับหัวจับปกติจะมีขนาดโต 1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร) ความเร็วที่ใช้ในการขัดโดยทั่วไปจะใช้ประมาณ1,200ถึง3,500รออบต่อนาที
ในการขัดถ้าใช้โต๊ะขัดซึ่งเป็นโต๊ะไม้ขนาดเล็กๆ รองชิ้นงาน ก็จะสามารถกัดชิ้นงานได้เต็มหน้าที่ขัด ส่วนโค้งเว้าที่โต๊ะขัดจะช่วยให้สามารถใช้กระบอกขัดในระดับความสูงที่แตกต่างกัน การใช้ชิ้นงานในลักษณะนี้จะทำให้ปลอกขัดถูกใช้งานเต็มพื้นที่
ต้องล็อกปลอกขัดให้แน่นด้วยการขันนอตที่อยู่ใต้กระบอกขัด ในการขัดก็จะต้องป้อนชิ้นงานสวนกับทิศทางการหมุนของกระบอกขัด และจะต้องไม่ให้ชิ้นงานที่ขัดอยู่กับที่ เพราจะทำให้ชิ้นงานไหม้ได้

                8.2 การขึ้นรูปชิ้นงาน
เครื่องสว่านแท่นสามารถใช้ในการขึ้นรูปชิ้นงานได้ด้วยเช่นกัน กรณีนี้ให้ติดตั้งอุปกรณ์ประกอบที่ใช้ในการจับยึดหัวตัด และแท่นรองรับชิ้นงานพิเศษเป็นตัวนำกัด สำหรับหัวตัดและรั้วที่ใช้จะเป็นแบบเดียวกันกับที่ใช้ในเครื่องขึ้นรูปชิ้นงานแบบมาตรฐาน สำหรับความเร็วที่ใช้ในการขึ้นรูปชิ้นงานไม่ควรต่ำกว่า5,000รอบต่อนาที การป้อนชิ้นงานกับเครื่องชนิดนี้จะต้องช้ากว่าการป้อนชิ้นงานกับเครื่องขึ้นรูปชิ้นงาน เนื่องจากความเร็ซรอบจะน้อยกว่าเครื่องขึ้นรูปชิ้นงานมาก และผลงานที่ได้ก็จะไม่เรียบเท่ากับเครื่องขึ้นรูปชิ้นงาน

                8.3 การกัดชิ้นงาน
เมื่อใดก็ตามถ้าเป็นไปได้ในการกัดชิ้นงานให้ใช้เครื่องกัดแบบมาตรฐาน (standard router) อย่างไรก็ตาม การกัดชิ้นงานก็สามารถกัดได้ด้วยเครื่องสว่านแท่นได้เช่นกัน แต่จะต้องใช้อุปกรณ์สำหรับการกัด การใช้หัวจับแบบมาตรฐานของเครื่องสว่านแท่งซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้กับงานนี้จะทำให้หัวจับหลุดหลวมและหัวตัดก็จะหลุดออกมาจากหัวจับซึ่งจะมีอันตรายมาก ดังนั้น จึงต้องติดตั้งอุปกรณ์จับหัวตัดที่ออกแบบมาให้ใช้กับงานนี้โดยเฉพาะเข้าแทนที่เมื่อต้องการกัดชิ้นงาน และเพื่อให้ได้ผลงานดีที่สุดก็ควรจะปรับให้เครื่องสว่านแท่นทำงานที่ความเร็วประมาณ5,000รอบต่อนาที สำหรับการป้อนชิ้นงานก็ให้ป้อนสวนกับทิศทางการหมุนของหัวตัด

                8.4 การเจาะรูเดือยเหลี่ยม
เครื่องสว่านแท่นสามารถที่จะใช้ในการเจาะรูเดือยเหลี่ยมได้ด้วยเช่นกัน แต่จะต้องใช้อุปกรณ์ประกอบสำหรับการเจาะรูเดือยเหลี่ยมโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ดอกสว่านและปลอกเจาะหรือสิ่วเจาะ (mortising bit and chisel) มาใช้ในการเจาะ ขณะทำการเจาะดอกสว่านจะหมุนอยู่ภายในปลอกเจาะที่อยู่กับที่ โดยที่ดอกสว่านจะทำหน้าที่หมุนเจาะชิ้นงาน ส่วนปลอกเจาะจะทำหน้าที่ตัดเฉือนขอบรูทำให้รูเป็นร่องเหลี่ยมตามต้องการ
ดอกสว่านและปลอกเจาะที่ใช้กับเครื่องสว่านแท่นโดยทั่วไปจะมีขนาดตั้งแต่1/4นิ้ว (6มิลลิเมตร) ถึง1/2นิ้ว (13มิลลิเมตร)
เมื่อต้องทำข้อต่อแบบเดือยและรูเดือย ให้ทำรูเดือยก่อนโดยร่างแบบลงบนชิ้นงาน จากนั้นให้เลือกอุปกรณ์ประกอบสำหรับการเจาะรูเดือยเหลี่ยม รวมถึงดอกสว่านและสิ่วเจาะรูเดือยในขนาดที่ถูกต้องและกำหนดระยะความยาวของรูที่จะเจาะ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการเจาะ
ลำดับขั้นในการเจาะรูเดือยเหลี่ยมที่ถูกต้อง มีดังนี้
1. ปรับตั้งรั้วให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วยึดให้แน่น ปรับอุปกรณ์สำหรับการเจาะรูเดือยเหลี่ยมที่ติดตั้ง   เข้าไปในเครื่องให้อยู่ในแนวเดียวกันกับรูเดือยที่จะเจาะที่ร่างไว้ ต้อองแน่ใจได้ว่าขอบทางด้านข้างของ              ปลอกเจาะหรือสิ่วตั้งได้ฉากกับรั้ว
2. ปรับระดับความลึกในการเจาะด้วยการตั้งเกจกำหนดความลึก ปกติจะให้เจาะได้ลึกกว่าความยาวของ       เดือยประมาณ1/8นิ้ว (3มิลลิเมตร) สำหรับกาวส่วนเกิน
3. ตัดแท่งไม้กำหนดระยะ (space block) ให้ยาวเท่ากับความยาวของรูเดือยที่จะเจาะแล้ววางลงบนแท่น      เครื่องชิดกับรั้ว โดยให้ด้านหนึ่งชนกับหัวไม้ของไม้ที่จะเจาะรูเดือย จากนั้นใช้แท่งไม้หยุดระยะ (stop                 block) วางชนกับหัวไม้อีกด้านหนึ่งของแท่นไม้กำหนดระยะแล้วยึดให้แน่นกับรั้ว
4. ดำเนินการเจาะครั้งที่1
5. เอาแท่งไม้กำหนดระยะออกแล้วเลื่อนไม้ที่เจาะรูเดือยให้หัวไม้ชนกับแท่งไม้หยุดระยะ
6. ดำเนินการเจาะครั้งที่2ก็จะได้รูเดือยเหลี่ยมตามต้องการ
บางทีอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะรูเดือยเข้าหากัน เช่น ขาโต๊ะหรือขาเก้าอี้ ให้ดำเนินการดังนี้ เจาะรูเดือยรูแรกให้ลึกพอที่จะบรรจบเข้ากับด้านแรกของรูเดือยรูที่สอง และเจาะรูเดือยรูที่สองให้เต็มความลึกตามที่กำหนด จากนั้นตัดปลายเดือยทั้งสองเป็นปากกบก็จะทำให้ปากเดือยประกบเข้าด้วยกันได้พอดีภายในรูเดือยที่เจาะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Free Web Hosting