












กฎแห่งความปลอดภัยในการใช้เครื่องกลึงไม้ มีดังนี้
1. จะต้องแน่ใจว่ามีการปรับตั้งเครื่องก่อนการใช้งานทุกครั้ง
2. ผู้ปฏิบัติงานจะต้องแต่งกายให้รัดกุม ชายเสื้อต้องอยู่ในกางเกง เนคไทต้องถอดออกหรือซ่อนอยู่ภายในเสื้อ ถ้ามีเสื้อที่สวมใส่เป็นแขนยาวต้องพับแขนขึ้นเหนือศอกให้เรียบร้อย
3. สวมแว่นตานิรภัย หรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าทุกครั้งขณะทำงาน
4. รักษาเครื่องมือ (สิ่ว) ที่ใช้กับงานกลึงให้คมอยู่เสมอ
5. ตรวจสอบชิ้นงานก่อนเริ่มงานเสมอ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าไม้ที่นำมากลึงไม่มีรอยแตกร้าว ตาไม้ และสิ่งบกพร่องใด ๆ บนเนื้อไม้หรือมีตะปูฝังอยู่ การกลึงไม้ที่มีตำหนิดังกล่าวอาจทำให้ไม้กระเด็นหลุดออกมาจากตัวเครื่องได้ นอกจากนั้น ตะปูที่ฝังอยู่ในเนื้อไม้ก็จะทำความเสียหายให้กับสิ่วกลึงได้เช่นกัน
6. หลังกำหนดจุดศูนย์กลางของชิ้นงานแล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรลบเลี่ยมชิ้นงานเสียก่อน ก็จะช่วยในการกลึงง่ายขึ้น และมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น
7. ใช้ไขหรือน้ำมันหล่อลื่นชนิดข้นทาหรือหยอดที่ศูนย์ตายของชุดศูนย์ท้ายเครื่องเมื่อกลึงงานระหว่างยันศูนย์ ก็จะสามารถป้องกันชิ้นงานหรือไม้ไหม้ได้
8. เมื่อชิ้นงาน ได้รับการติดตั้งระหว่างยันศูนย์แล้ว จะต้องแน่ใจว่าศูนย์ท้ายแท่นเครื่องได้ถูกล๊อก
ไว้อย่างมั่นคง
9. หลังติดตั้งชิ้นงานเข้ากับตัวเครื่องแล้ว ให้ทดลองหมุนชิ้นงานด้วยมือก่อนเพื่อดูว่าชิ้นงานจะไป
กระแทกกับสิ่งอื่นหรือไม่
10. การจับสิ่วกลึง ต้องจับให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่วเกิดการงัดกับไม้ที่กลึง หรือสิ่วหลุดมือเพราะจะ ทำให้เกิดอันตรายขั้นร้ายแรงได้
11. การกลึงงานที่ยาวมาก เมื่อกลึงจนมีขนาดเล็กลงแล้ว ให้ใช้กันสะท้านรองรับที่จุดกึ่งกลางของชิ้นงาน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นงานที่กลึงสั้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายและชิ้นงานเสียหายได้
12. ชิ้นงานที่เพลาะด้วยกาวจะต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อให้กาวแห้งสนิมเสียก่อน จึงจะสามารถนำมากลึงได้
13. เมื่อกลึงชิ้นงานเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ใช้เลื่อยรอตัดชิ้นงาน ห้ามใช้สิ่วกลึงตัดชิ้นงานโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอันตรายขั้นร้ายแรงได้
14. การถอดยันศูนย์ออกจากตัวเครื่องจะต้องใช้ความระมัดระวังพิเศษ เพื่อไม่ให้ศูนย์ตกสู่พื้น เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย อันมีผลสืบเนื่องที่ทำให้ชิ้นงานที่กลึงเกิดความเสียหายและเกิดอันตรายได้
15. ในการกลึงแบบใช้จานกลึง จะต้องแน่ใจว่าชิ้นงานได้รับการติดตั้งเข้ากับจานกลึงอย่างมั่นคง
16. ในการถอดจานกลึงออกจากหัวแท่นเครื่อง ให้ใช้ลิ่มไม้ล็อกระหว่างแกนพูเล่ห์กับหัวแท่นเครื่องเท่านั้น ห้ามใช่ส่วนอื่นของเครื่องกลึงเป็นตัวล็อก
17. แท่นรองรับเครื่องมือจะต้องสามารถล็อกได้อย่างมั่นคง
18. จะต้องไม่ปรับแท่นรองรับเครื่องมือที่เครื่องกลึงขณะกำลังทำงาน
19. ให้ถอดแท่นรองรับเครื่องมือออกทุกครั้งก่อนที่จะทำการขัดชิ้นงานด้วยกระดาษทรายหรือขัดเงา
20. เมื่อเครื่องกลึงไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน ๆ ให้ทาแท่นเครื่องด้วยน้ำมันก็สามารถป้องกันการเกิดสนิมได้

วิธีกลึงชิ้นงานจำแนกได้เป็น 2 วิธี ได้แก่ วิธีขูด (scraping) และวิธีเฉือน (shearing)
วิธีขูด: เป็นวิธีง่ายที่สุดและถูกนำมาใช้บ่อยที่สุด วิธีนี้ให้วางสิ่วราบลงบนแท่นรองรับเครื่องมือในลักษณะหงายสิ่ว จากนั้นป้อนสิ่วเข้าสู่ชิ้นงานที่กำลังหมุน สิ่วก็จะขูดเส้นใยเนื้อไม้ออกให้เหลือเพียงพื้นผิวหยาบ ๆ ไว้ เพื่อที่จะกลึงเรียบเรียงในภายหลัง การป้อนสิ่วสู่ชิ้นงานจะต้องป้อนทีละน้อย และจะต้องแน่ใจว่าความเร็วที่ใช้ในการกลึงถูกต้อง
วิธีเฉือน: จะยากกว่าวิธีขูด อย่างไรก็ตาม วิธีเฉือนจะกลึงชิ้นงานได้เร็วกว่าวิธีขูดมาก และจะกลึงชิ้นงานได้เรียบกว่าซึ่งจะทำให้ความต้องการในการขัดชิ้นงานน้อยลง การกลึงด้วยวิธีนี้ให้ใช้สิ่วเล็บมือและสิ่วปากฉลาม ในการการกลึงให้จับสิ่วทำมุมกับชิ้นงานและสวนกับทิศทางการหมุนของชิ้นงาน ขณะทำการกลึงให้กลิ้งสิ่วไป – มาเพื่อให้ได้รูป
ตามต้องการ

การจับสิ่วกลึงสำหรับคนถนัดขวาให้จับใบสิ่วด้วยมือซ้าย และด้ามสิ่วด้วยมือขวา ส่วนวิธีจับนิยมจับกันจำแนกออกได้เป็น 2 วิธี ได้แก่
- วิธีที่หนึ่ง : จับสิ่วในลักษณะหงายมือซ้ายให้ห่างออกจากปลายสิ่วประมาณ 1 นิ้ว (25 มิลิเมตร) โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ในร่องของใบสิ่ว นิ้วที่เหลือทั้งสี่รองรับใบสิ่วทางด้านล่าง และให้นิ้วชี้แนบไปกับแท่นรองรับเครื่องมือเพื่อควบคุมการป้อนสิ่ว วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่เริ่มฝึกกลึง
- วิธีที่สอง : จับใบสิ่วในลักษณะคว่ำมือด้วยการใช้มือซ้ายกำใบสิ่ว นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านล่าง ข้อมือประชิดกับแท่นรองรับเครื่องมือเพื่อควบคุมการป้อนสิ่วกลึง วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีความชำนาญแล้ว
การกลึงงานรูปทรงกระบอก
การกลึงงานรูปทรงกระบอก ชิ้นงานจะได้รับการติดตั้งอยู่ระหว่างศูนย์ที่หัว – ท้ายเครื่อง ศูนย์เป็นจะหมุนไปกับแกนของหัวแท่นเครื่องขณะทำการกลึง ขณะที่ศูนย์ตายที่อยู่ในยันศูนย์ท้ายเครื่องจะยังคงอยู่กับที่ การกลึงด้วยวิธีนี้จะใช้ในการกลึงขาโต๊ะ – เก้าอี้ แขนเครื่องมือ ไม้ตีเบสบอล และอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน
การเตรียมชิ้นงาน
ชิ้นงานหรือไม้ที่จะนำมาต้องไม่มีรอยร้าว ตาไม้ และสิ่งบกพร่องใด ๆ หรือมีตะปูบนเนื้อไม้และจะต้องผ่านการไสปรับขนาดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่ามาแล้ว จากนั้นให้ดำเนินการดังนี้
1. เลือกชิ้นงานที่ยาวกว่าความยาวที่กำหนดประมาณด้านละ 1 นิ้ว (25 มิลลิเมตร) และจะต้องมีขนาดโตกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของชิ้นงานที่กำหนดเล็กน้อย ปกติจะให้โตกว่าประมาณ ¼ นิ้ว (6 มิลลิเมตร) ปลายด้านหัว – ท้ายของชิ้นงานจะต้องตัดให้ได้ฉากทั้งสองด้าน
2. กำหนดจุดศูนย์กลางของชิ้นงานที่ปลายแต่ละด้าน ถ้าชิ้นงานเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า จุดศูนย์กลางของชิ้นงานจะอยู่ที่จุดตัดของเส้นทแยงมุมที่ลากระหว่างมุมที่ปลายของชิ้นงาน ถ้าชิ้นงานเป็นเนื้อไม้อ่อนให้ใช้เหล็กขีดปลายวงเวียนเจาะลงไปที่จุดตัดดังกล่าว แต่ถ้าชิ้นงานเป็นไม้เนื้อแข็งให้ใช้สว่านขนาด 1/16 นิ้ว (2 มิลลิเมตร) เจาะลึกลงไปประมาร 1/8 นิ้ว (3 มิลลิเมตร) ก็จะได้จุดศูนย์กลางของชิ้นงานตามต้องการ หลังจากนั้นให้ใช้เลื่อยรอหรือเลื่อยสะพานก็ได้เลื่อยไปตามเส้นที่ขีดไว้ให้ลึกลงประมาณ 1/8 นิ้ว (3 มิลลิเมตร)
หมายเหตุ : สำหรับชิ้นงานรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่าที่โตกว่า 3 นิ้ว (75 มิลลิเมตร) ควรนำไปลบมุมเสียก่อน ก็จะทำการกลึงง่ายขึ้นและการสึกหรอของสิ่วกลึงลดลง การลบมุมอาจใช้เครื่องเลื่อยสายพานเครื่องเลื่อยวงเดือน หรือเครื่องไสเพลาะก็ได้
3. การปรับตั้งความเร็วเครื่อง
ความเร็วของเครื่องกลึงระหว่างการกลึงงาน จะต้องปรับให้สอดคล้องกับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของชิ้นงาน และความหยาบ – ละเอียดที่ต้องการของงานที่ทำที่เสนอแนะไว้ในตารางที่ 12.1 ความเร็วที่สูงจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้โดยง่าย ขณะที่ความเร็วต่ำจนเกินไปก็ทำให้ผลงานที่ออกมาไม่เรียบร้อย การใช้ความเร็วสูงจนเกินไปกับชิ้นงานขนาดใหญ่ อาจทำให้ชิ้นงานหลุดกระเด็นออกมาจากตัวเครื่องได้ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายขั้นร้ายแรงมาก ดังนั้นจึงต้องใช้ความเร็วที่เหมาะสม ก็จะทำให้ผลงานออกมาดีและปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงานและบุคคลอื่นที่อยู่ใกล้เคียง การปรับตั้งความเร็วเครื่องกลึงจะต้องกระทำก่อนการติดตั้งชิ้นงานทุกครั้ง
12.11.4 การกลึงหยาบ
การกลึงหยาบ เป็นการกลึงล้างเพื่อให้ชิ้นงานกลมเป็นรูปทรงกระบอกและมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดที่กำหนด ปกติจะให้โตกว่าขนาดที่กำหนดเล็กน้อยเพื่อการกลึงเพื่อการกลึงละเอียดหรือเรียบภายหลัง ในการกลึงหยาบให้เริ่มด้วยการใช้สิ่วเล็บมือขนาดใหญ่มาใช้กลึงถ้าเป็นคนถนัดขวาให้จับใบสิ่วด้วยมือซ้ายและด้ามสิ่วด้วยมือขวา สำหรับวิธีจับสิ่วให้เลือกตามความถนัดวิธีใด วิธีหนึ่งที่แสดงในหัวข้อที่ 12.10 แล้วจึงเริ่มทำการกลึงตามลำดับขั้นการทำงาน ดังต่อไปนี้
1. เปิดสวิตซ์เครื่องแล้ววางสิ่วลงบนแท่นรองรับเครื่องมือในลักษณะหงายสิ่ว ให้ด้านโค้งนูนอยู่ทาง ด้านล่างที่ตำแหน่งประมาณ 2 นิ้ว (50 มิลลิเมตร) จากยันศูนย์ท้ายเครื่อง กดสิ่วให้แนบกับแท่น รองรับ และกดด้ามสิ่วให้ต่ำลงเล็ดน้อยโดยให้ทำมุมกับชิ้นงานประมาณ 30 องศา จากนั้นป้อนสิ่วเข้า สู่ชิ้นงานจากตำแหน่งที่เริ่มเข้าสู่ยันศูนย์ท้ายเครื่อง การป้อนสิ่วให้ป้อนทีละน้อย ขณะป้อนสิ่วให้กลิ้ง สิ่วไป – มาเล็กน้อยในทิศทางเดียวกับการกลึง
2.หลังกลึงแต่ละเที่ยว ให้กลึงเข้าหาศูนย์เป็นที่หัวแท่นเครื่องเที่ยวละประมาณ 2-3 นิ้ว จนกระทั่ง เหลือประมาณ 2 นิ้ว (50 มิลลิเมตร) จากหัวแท่นเครื่อง จากนั้นให้กระดกสิ่วไปทางซ้ายแล้วกลึงเข้า หาศูนย์เป็นที่หัวแท่นเครื่อง
3. ปิดสวิตซ์เครื่องแล้วตรวจสอบชิ้นงานที่กลึงว่ากลมเป็นรูปทรงกระบอกแล้วหรือไม่ ถ้าไม่ก็ให้เปิด สวิตซ์เครื่องแล้วทำการกลึงในลักษณะเดียวกันต่อไปจนกลม
4. เมื่อชิ้นงานที่กลึงกลมได้ที่แล้วให้ปิดสวิตซ์เครื่องแล้วทำการเลื่อนแท่นรองรับเครื่องมือชิดเข้าไปกับ ชิ้นงาน
5. ปรับตั้งวัดนอกให้โตกว่าขนาดที่กำหนดประมาณ 1/16 นิ้ว (2 มิลลิเมตร)
6. เปิดสวิตซ์เครื่อง จับวัดนอกอย่างหลวม ๆ ด้วยมือซ้าย จับสิ่วตัดด้วยมือขวาโดยให้ขอบทางด้าน แคบของสิ่ววางไปบนแท่นรองรับเครื่องมือ แล้วเริ่มป้อนสิ่วเข้าทำการตัดร่องที่ชิ้นงาน จับวัดนอกจ่อ ไปที่ร่องที่ทำการตัด เมื่อสิ่วได้ระดับความลึกที่กำหนดแล้ว วัดนอกก็จะเลื่อนผ่านชิ้นงานที่ตัดไปซึ่ง แสดงว่าชิ้นงานส่วนที่ตัดได้ขนาดตามที่กำหนดแล้ว ให้ตัดชิ้นงานในลักษณะนี้ทุก ๆ ระยะ 2 นิ้วไป ตลอดความยาวของชิ้นงาน การตัดในลักษณะนี้เรียกว่าการตัดเข้าขนาด
7. ใช้สิ่วฉากหรือสิ่วปากแบนทำการขูดชิ้นงานระหว่างร่องที่ตัดก็จะได้ชิ้นงานที่มีขนาดท่ากันโดย ตลอดตามต้องการ ในการใช้สิ่วฉากขูดชิ้นงานให้วางสิ่วราบลงบนเครื่องแท่นรองรับเครื่องมือและตั้ง ฉากกับชิ้นงาน จากนั้นให้เลื่อนสิ่วไป – มาตามความยาวของชิ้นงานจนกระทั่งร่องที่ทำขึ้นจากสิ่วตัด หายไป และชิ้นงานเรียบได้ขนาด
12.11.5 การกลึงละเอียด
หลังจากกลึงชิ้นงานเข้าสู่รูปแบบขั้นพื้นฐานแล้ว ให้เพิ่มความเร็วสำหรับการกลึงละเอียดหรือกลึงเรียบ ตามที่ระบุไว้ในตาราง 12.1 วิธีกลึงสามารถกลึงได้ทั้งวิธีขูดและวิธีเฉือน การป้อนสิ่วกลึงก็ให้ป้อนทีละน้อยเช่นกัน ก่อนเริ่มทำการกลึงให้ปรับตั้งวัดนอกเข้าสู่ขนาดที่ต้องการอย่างแท้จริงเสียก่อนเพื่อใช้ในการตรวจสอบขนาดของชิ้นงานระหว่างทำการกลึง วิธีกลึงก็สามารถกลึงได้ทั้งวิธีขูดละวิธีเฉือน
สำหรับการกลึงด้วยวิธีขูด ให้ใช้สิ่วฉากหรือสิ่วปากฉลามขนาดใหญ่และใช้ความเร็วสูง โดยวางสิ่วราบลงกับแท่นรองรับเครื่องมือ ให้คมสิ่วขนานไปกับชิ้นงานที่ตำแหน่งห่างจากปลายของชิ้นงานพอประมาณ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สิ่วกระแทกกับชิ้นงาน ซึ่งอาจจะทำให้ชิ้นงานแตกหรือแยกออกจากกันได้ จากนั้นป้อนสิ่วเข้าขูดชิ้นงานจากตำแหน่งที่เริ่มเข้าสู่ปลายชิ้นงานด้านยันศูนย์ท้ายเครื่อง ทำในลักษณะเดียวกันจากตำแหน่งที่เริ่มต้นเข้าสู่ปลายชิ้นงานด้านแท่นเครื่องด้วยเช่นกัน
สำหรับการกลึงด้วยวิธีเฉือน ให้ใช้สิ่วปากฉลามขนาดใหญ่ โดยวางสิ่วทางด้านแบนลงบนแท่นรองรับเครื่องมือ ให้คมตัดอยู่เหนือชิ้นงานเล็กน้อย กดสิ่วให้แนบกับแท่นแล้วลากสิ่วลงช้า ๆ จนกระทั่งกึ่งกลางของคมสัมผัสกับชิ้นงาน จะต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ปลายคมของสิ่วสะดุดกับชิ้นงานที่กำลังหมุน หมุนสิ่วเล็กน้อยด้วยการบิดด้ามสิ่วจนกระทั้งคมของสิ่วตัดเข้าไปในชิ้นงาน จากนั้นให้ทำการกลึงชิ้นงานเข้าสู่ยันศูนย์ท้ายเครื่อง ในการกลึงจะต้อให้ศูนย์กลางของคมสิ่วเท่านั้นตัดเฉือนชิ้นงานไม่ใช่ปลายสิ่ว และจะต้องกลึงขนานไปกับชิ้นงาน จากนั้นให้สิ่วกลับแล้วกลึงในลักษณะเดียวกันจากตำแหน่งที่เริ่มต้นเข้าสู่ปลายชิ้นงานด้านหัวแท่นเครื่อง
การถอดชิ้นงานออกจากเครื่องให้คลายที่ล็อกแกนหมุนของยันศูนย์ท้ายเครื่อง แล้วหมุนมือหมุนให้แกนหมุนถอยออกมา จากนั้นถอดศูนย์ตายโดยการหมุนมือหมุนจนกระทั่งแกนหมุนเลื่อนเข้าสู่แท่นยันศูนย์ท้ายเครื่องซึ่งจะดันให้ศูนย์ตายหลุดออกจากแกนหมุน จากนั้นถอดศูนย์ออกจากชิ้นงานด้วยก้านกระทุ้งด้วยการกระทุ้งเบา ๆ ผ่านช่องเปิดสำหรับแกนหมุนหัวแท่นเครื่อง ให้ใช้มือประคองศูนย์เป็นขณะกระทุ้งเพื่อป้องกันไม่ให้ศูนย์เป็นตกสู่พื้นอันจะทำให้เกิดความเสียหายได้
12.12 การกลึงตกแต่ง
การกลึงตกแต่ง เป็นการกลึงที่นอกเหนือจากการกลึงแบบธรรมดา หรือการกลึงรูปทรงกระบอก การกลึงแบบนี้จะเพิ่มความสวยงามให้กับชิ้นงานที่กลึง การกลึงแบบนี้ส่วนใหญ่ ได้แก่การกลึงเรียว (tapers) การกลึงบ่า (shoulders) การกลึงร่องรูปตัววี (V – cuts) การกลึงโค้งเว้า (coves) การกลึงโค้งนูน (beads) และอื่น ๆ การกลึงแบบนี้ให้ปรับตั้งความเร็วเท่ากับการกลึงแบบทั่วไป
12.12.1 การกลึงเรียว
การกลึงเรียว เช่น การกลึงไม้ตีเบสบอล ขาโต๊ะ – เก้าอี้ และอื่น ๆ เพื่อที่จะร่างแบบความเรียว ก่อนอื่นให้ทำการกำหนดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางในแต่ละส่วนให้เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด จากนั้นทำเครื่องหมายที่จุดจ่าง ๆ ตามกำหนดลงบนชิ้นงาน แต่ละจุดที่กำหนดใช้สิ่วตัดทำการตัดร่องให้ได้ระดับความลึกตามแบบปกติจะให้ตื้นกว่าความลึกจริงประมาณ 1/16 นิ้ว (2 มิลลิเมตร) เพื่อเหลือไว้สำหรับการกลึงละเอียด การตัดร่องให้ได้ระดับความลึกตามแบบนี้จะใช้สิ่วตัด
วิธีกลึงเรียวสามารถกลึงได้ทั้งวิธีขูดและวิธีเฉือน สำหรับวิธีขูดให้ใช้สิ่วฉากสิ่วปากฉลาม ถ้าชิ้นงานยาวมากแท่นรองรับเครื่องมือจะต้องปรับมุมกับเครื่องแท่นเล็กน้อย เพื่อให้ขนานไปกับความเรียวของชิ้นงานที่กลึง ส่วนวิธีเฉือนให้ใช้สิ่วปากฉลามทำการกลึงด้วยวิธีการกลึงละเอียดด้วยวิธีเฉือน
ในการกลึงเรียวเพื่อให้งานที่กลึงเรียบ ให้กลึงจากปลายด้านโตสู่ปลายด้านเล็ก ให้ใช้สิ่วเล็บมือสำหรับการกลึงหยาบ และสิ่วปากฉลามสำหรับการกลึงละเอียด เมื่อกลึงแบบใช้จานกลึงให้ใช้สิ่วปากมนสำหรับการกลึงหยาบ และสิ่วปากฉลามสำหรับการกลึงละเอียด
ลำดับในการกลึงเรียวที่ถูกต้อง มีดังนี้
1. กลึงชิ้นงานเข้าสู่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่โตที่สุด
2. ใช้สิ่วตัดทำการตัดร่องเข้าสู่ขนาดที่เล็กที่สุดที่ปลายด้านยันศูนย์ท้ายเครื่อง แล้วทำการตัดหลาย ๆ ร่องให้ได้ระดับความลึกตามที่ออกแบบไว้ระหว่างเส้นผ่าศูนย์กลางที่โตที่สุดกับเส้นผ่านศูนย์กลางที่ เล็กที่สุดเพื่อเป็นเครื่องนำทางในการกลึง
3. ใช้สิ่วเล็บมือกลึงเรียวอย่างหยาบ ๆ
4. กลึงเรียวอย่างละเอียดด้วยสิ่วปากฉลาม ด้วยการใช้โคนของคมในการกลึง
2. การกลึงบ่า
การกลึงบ่าจะกลึงเป็นมุมที่ตั้งฉากได้กับผิวหน้าของชิ้นงาน ปกติจะกลึงที่ปลายของชิ้นงานหรือระหว่างส่วนกลึงอื่น ๆ เพื่อที่จะกลึงบ่าก่อนอื่นให้ร่างแบบทั้งตำแหน่งและความกว้างของบ่าขั้นที่ชิ้นงาน วิธีกลึงสามารถกลึงได้ทั้งวิธีขูดและวิธีเฉือน ก่อนการกลึงด้วยวิธีดังกล่าวให้ปรับตั้งวัดนอกให้โตกว่าขนาดที่กำหนดประมาณ 1/16 นิ้ว (2 มิลลิเมตร)
สำหรับการกลึงด้วยวิธีขูด ให้ใช้สิ่วตัดทำการตัดลงไปในตำแหน่งที่ร่างเอาไว้ให้เท่ากับขนาดตามที่ปรับตั้งวัดนอกไว้ จากนั้นใช้สิ่วฉากหรือสิ่วปากฉลามขูดชิ้นงานเข้าสู่ขนาดตามที่กำหนด
ส่วนการกลึงด้วยวิธีเฉือน หลังใช้สิ่วตัดทำการตัดลงไปในตำแหน่งที่ร่างเอาไว้ให้เท่ากับขนาดตามที่ปรับตั้งวัดนอกไว้ ให้ใช้สิ่วกลึงเข้าสู่ขนาดตามที่กำหนดอย่างหยาบ ๆ ก่อน แล้วตัดของทางด้านข้างของบ่าด้วยสิ่วปากฉลามขนาดเล็กด้วยการจับสิ่วทางด้านขอบให้ปลายคมสิ่วอยู่ทางด้านล่างโคนคมสิ่วอยู่ทางด้านบน ให้สิ่วทำมุมเล็กน้อยกับชิ้นงานเพื่อให้มุมที่เผล้ด้านหนึ่งของคมสิ่วตั้งได้ฉากกับชิ้นงาน กระดกโคนคมสิ่วออกจากการตัดเล็กน้อย ป้อนสิ่วเข้าสิ่วสู่ชิ้นงานจนถึงส่วนที่กลึงด้วยสิ่วเล็บมือ จากนั้นใช้โคนของคมสิ่วตัดเข้าสู่มุม
3.การกลึงร่องรูปตัววี
การกลึงร่องรูปตัววี ก่อนอื่นให้ร่างแบบความกว้างและตำแหน่งศูนย์กลางของร่องรูปตัววีเสียก่อน สำหรับวิธีกลึงสามารถใช้ได้ทั้งวิธีขูดและวิธีเฉือนเพื่อสร้างร่องรูปตัววี
สำหรับการกลึงด้วยวิธีขูดให้ใช้สิ่วปากจิ้งจก โดยการป้อนสิ่วเข้าสู่ชิ้นงานตรง ๆ โดยเริ่มที่ศูนย์กลางของร่อง ดันสิ่วเข้าไปจนคมสิ่วด้านข้างทั้งสองด้านตัดถึงเส้นแสดงความกว้างของร่อง
ส่วนการกลึงด้วยวิธีเฉือนให้ใช้สิ่วปากฉลาม โดยวางสิ่วด้านขอบแนบกับแท่นรองรับเครื่องมือ ให้โคนคมสิ่วอยู่ทางด้านล่าง ตัดเข้าสู่ชิ้นงานที่ศูนย์กลางของร่องด้วยโคนของคมสิ่ว ขณะทำการตัดให้ยกสิ่วไปทางด้านใดด้านหนึ่งช้า ๆ การตัดในลักษณะนี้จะทำให้สิ่วตัดร่องได้เพียงครึ่งเดียว เพื่อที่จะตัดร่องอีกหนึ่งให้โยกสิ่วไปด้านที่ยังไม่ตัด แล้วตัดในลักษณะเดียวกันก็จะได้ร่องรูปตัววีตามต้องการ
12.12.4 การกลึงโค้งนูน
การกลึงโค้งนูน ในการร่างแบบให้ร่างทั้งความกว้างและตำแหน่งศูนย์กลางของโค้งนูนเช่นกัน จากนั้นให้ตัดเป็นร่องลึกในแต่ละด้าน สำหรับวิธีกลึงสามารถใช้ได้ทั้งวิธีขูดและเฉือน
สำหรับการกลึงด้วยวิธีขูดให้ใช้ปากจิ้งจก โดยป้อนสิ่วเข้าศูนย์กลางของส่วนโค้งนูน ขณะป้อนให้โยกสิ่วไป – มา ก็จะได้ส่วนโค้งนูนตามต้องการ
ส่วนการกลึงด้วยวิธีเฉือนให้ใช้สิ่วปากฉลาม แต่วิธีนี้จะทำได้ยากกว่าวิธีแรก ผู้กลึงจะต้องมีประสบการณ์สูงจึงจะกลึงได้ดี การกลึงด้วยวิธีเฉือนให้เริ่มกลึงที่ศูนย์กลางของส่วนโค้งนูนเช่นกัน แต่ในการกลึงจะต้องกระดกสิ่วขึ้นมาทำมุมกับชิ้นงาน ซึ่งการกระดกดังกล่าวจะทำให้โคนสิ่วเอียงลง จากนั้นบิดสิ่วช้า ๆ เมื่อลดมุมในการตัด ให้ทำกับอีกด้านของร่องเช่นกัน ก็จะได้ส่วนโค้งนูนตามต้องการเช่นกัน
12.12.5 การกลึงโค้งเว้า
การกลึงโค้งเว้า ในการร่างแบบให้ร่างทั้งความกว้างและตำแหน่งศูนย์กลางของโค้งเว้าโดยใช้แท่นรองรับเครื่องมือเป็นจุดศูนย์กลางในการรองรับสิ่ว ป้อนสิ่วเข้า – ออกขณะเดียวกันก็โยกสิ่วไป – มาจนได้ส่วนโค้งเว้าตามต้องการ
ส่วนการกลึงด้วยวิธีเฉือนให้ใช้สิ่วเล็บมือขนาดเล็ก โดยเริ่มตัดที่ขอบทางด้านหนึ่งของส่วนโค้งเว้าก่อน เอียงสิ่วไปตามขอบและบิดสิ่วเมื่อเลื่อนสิ่วเข้าศูนย์กลางของส่วนโค้งเว้า ให้ทำกับอีกด้านหนึ่งด้วยวิธีการเดียวกัน ก็จะได้ส่วนโค้งเว้าตามต้องการ
12.12.6 การกลึงลอกแบบ
การกลึงลอกแบบ จะใช้ในการกลึงชิ้นงานที่เหมือนกันจำนวนมาก ๆ เช่น การกลึงขาโต๊ะ – เก้าอี้ การกลึงแบบนี้จะต้องใช้ตัวลอกแบบ (duplicator) ร่วมกับแม่แบบช่วยในการกลึง แล้วดำเนินการดังนี้
1. ยึดตัวลอกแบบเข้ากับแท่นเครื่อง ให้สิ่วกลึงอยู่ในระดับเดียวกันกับศูนย์
2. ยึดแม่แบบเข้ากับตัวลอกแบบ แล้วใช้กลึงตัดชิ้นงานตามรูปแบบของแม่แบบ ก็จะทำให้ชิ้นงานที่ กลึงมีรูปแบบตามต้องการ
หมายเหตุ :แม่แบบที่ทำขึ้นจะต้องเท่ากับขนาดจริง ปกติชิ้นงานที่ได้จากการกลึงลอกแบบจะยังหยาบอยู่ จึงอาจต้องมีการกลึงละเอียดด้วยการกลึงแบบธรรมดา ดังนั้น ตัวลอกแบบจึงควรปรับตั้งให้กลึงชิ้นงานโตกว่าขนาดที่กำหนดเล็กน้อย |