as

 

 

 

ส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องขึ้นรูปชิ้นงาน มีดังนี้
3.1 ฐานเครื่อง
ฐานเครื่อง (base) จะเป็นที่สำหรับติดตั้งแท่นเครื่องและแกนหมุนของหัวตัด ฐานเครื่องจะทำด้วยเหล็กหล่อ

                3.2 แท่นเครื่อง
แท่นเครื่อง (table) จะเป็นที่สำหรับรองรับชิ้นงาน ตรงกลางแท่นเครื่องจะมีรูเพื่อให้แกนหมุนโผล่ขึ้นมาได้ นอกจากนั้น ยังเป็นที่สำหรับติดตั้งรั้วเมื่อต้องการกัดชิ้นงานในแนวตรง และมีร่องสำหรับติดตั้งเกจตัดปากกบเพื่อควบคุมการกัดชิ้นงาน

                3.3 แกนหมุน
แกนหมุน (spindle) ที่ใช้จะเป็นแกนแนวตั้ง ใช้เป็นที่สำหรับติดตั้งหัวตัดที่ใช้กัดชิ้นงาน แกนหมุนสามารถปรับเลื่อนขึ้น-ลงเพื่อควบคุมระดับความลึกในการกัดได้ แกนหมุนอาจเป็นแบบที่หมุนได้2ทิศทางซึ่งจะขึ้นอยู่กับมอเตอร์ที่ใช้ขับ โดยทั่วไปจะหมุนที่ความเร็วประมาณ5,000ถึง10,000ต่อนาที

                3.4 หัวตัด
หัวตัด (cutter) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่ใช้ในการกัดชิ้นงานให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามความต้องการ ดังนั้น หัวตัดจึงได้รับการออกแบบให้มีรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบที่ต้องการ หัวตัดจะทำจากเหล็กกล้าความเร็วสูง (high speed steel) จำแนกออกได้เป็น2แบบ ได้แก่ แบบมีใบมีดในตัว (formed type) กับแบบไม่มีใบมีดในตัว (clamp type)
แบบมีใบมีดในตัว ใบมีดจะถูกสร้างติดตายมากับหัวตัด หัวตัดแบบนี้จึงได้รับการออกแบบให้มีรูปร่างแตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลายตามความต้องการใช้งาน วัสดุส่วนที่เป็นคมตัดส่วนใหญ่จะทำจากทังสเตนคาร์ไบด์เนื่องจากมีความทนทานสูง หัวตัดแบบนี้มีข้อดี คือ ให้ความปลอดภัยสูง ไม่เสียเวลาในการติดตั้งและปรับใบมีดเหมือนกับแบบไม่มีใบมีดในตัว
แบบไม่มีใบมีดในตัว หัวตัดแบบนี้จะต้องมีการติดตั้งใบมีดก่อนเข้าไปก่อนที่จะนำไปใช้งาน ปกติจะใช้ใบมีดเพียง2ใบ หัวตัดแบบนี้ค่อนข้างอันตรายถ้าติดตั้งไม่ดี เพราะใบมีดอาจหลุดออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหัวตัดแบบนี้ก็ได้รับการออกแบบให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และสามารถติดตั้งใบมีดได้ถึง3ใบ

                3.5 มือหมุนปรับแกนหมุน
มือหมุนปรับแกนหมุน (spindle raising handwheel) จะทำหน้าที่ในการปรับเลื่อนแกนหมุนขึ้น-ลงเพื่อกำหนดระดับความลึกในการกัดชิ้นงาน

                3.6 ที่ล็อกมือหมุน
ที่ล็อกมือหมุน (handwheel lock) จะทำหน้าที่ในการล็อกมือหมุนปรับแกนหมุนหลังจากปรับได้ที่แล้ว

                3.7 แผ่นสอดแท่นเครื่อง
แผ่นสอดแท่นเครื่อง (table insert) เป็นแผ่นโลหะที่สามารถถอด-ใส่เข้าหรือออกจากแท่นเครื่องได้โดยการถอดออกเพื่อการติดตั้งหัวตัดและอุปกรณ์ และใส่กลับเข้าไปหลังติดตั้งหัวตัดและอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว แผ่นสอดแท่นเครื่องนี้ยังจะช่วยป้องกันมิให้เศษวัสดุจากการกัดตกลงสู่ใต้แท่นเครื่องได้อีกด้วย

                3.8 รั้ว
รั้ว (fence) จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมการกัดในแนวตรง รั้วจะแบ่งออกเป็น2ส่วน ได้แก่ ส่วนที่อยู่ทางด้านขวา และส่วนที่อยู่ทางด้านซ้าย สามารถปรับได้ตามความต้องการ

                3.9 สกรูปรับรั้ว
สกรูปรับรั้ว (fence adjustment screw) จะใช้ในการปรับเลื่อนรั้วเพื่อควบคุมการทำงานในบางลักษณะ

                3.10 ที่ยึดที่ปรับรั้ว
ที่ยึดที่ปรับรั้ว (fence adjustment clamp) จะใช้ในการยึดรั้วให้แน่นกับแท่นเครื่องหลังปรับรั้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว

                3.11 มอเตอร์
มอเตอร์ (motor) ที่ใช้ขับแกนหมุนของเครื่องขึ้นรูปชิ้นงานส่วนใหญ่จะเป็นแบบหมุนกลับทิศทางใต้ จึงทำให้แกนหมุนสามารถหมุนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ ซึ่งทำให้สามารถกลับหัวตัดได้ ทำให้รูปแบบของการกัดหลากหลายยิ่งขึ้น

                3.12 สวิตช์

                สวิตช์ (switch) ที่ใช้กับเครื่องขึ้นรูปชิ้นงานปกติจะเป็นสวิตช์แบบสองทาง เพื่อให้สามารถใช้ตัดหัวได้ทั้ง2ทิศทาง ทั้งทวนเข็มนาฬิกาและตามเข็มนาฬิกา ในการใช้งานตามปกติหัวตัดจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา ผู้ปฏิบัติงานก็จะต้องป้อนชิ้นงานจากขวาไปซ้ายและในทำนางเดียวกันเมื่อปรับสวิตช์ให้หัวตัดหมุนตามเข็มนาฬิกา ผู้แฏิบัติงานก็จะต้องป้อนชิ้นงานจากซ้ายไปขวาด้วยเช่นกัน

 

กฎแห่งความปลอดภัยในการใช้เครื่องขึ้นรูปชิ้นงาน มีดังนี้
                1. ปิดสวิตช์เครื่องและปิดเมนสวิตช์ที่เข้าเครื่องทุกครั้งก่อนการติดตั้งหัวตัด หรือเมื่อทำการปรับตั้งเครื่อง
                2. ถ้าเป็นไปได้จะต้องติดตั้งให้หัวตัด ตัดทางด้านล่างของชิ้นงานเสมอ
                3. ในการติดตั้งหัวตัดจะต้องใส่แหวนล็อกด้วยทุกครั้ง และจะต้องล็อกนอตล็อกหัวตัดให้แน่นทุกครั้งด้วย   เช่นกัน
                4. หัวตัดที่ใช้จะต้องคมเสมอ การใช้หัวตัดที่ไม่คมจะทำให้ชิ้นงานเกิดความเสียหายได้
                5. ติดตั้งฝาครอบป้องกันอันตรายที่ถูกต้องทุกครั้งก่อนการทำงาน
                6. ใช้อุปกรณ์นำกัด อุปกรณ์จับยึด หรือแม่แบบเสมอเมื่อไรก็ตามที่เป็นไปได้
                7. จะต้องไม่เปิดเครื่องจนกว่าจะแน่ใจได้ว่าหัวตัดสามารถหมุนได้อย่างอิสระไม่ติดกับสิ่งกีดขวางใดๆ ที่อยู่บนแท่นเครื่อง ให้ทดสอบโดยทดลองหมุนแกนหมุนด้วยมือ เพื่อทดสอบดูว่าหัวตัดจะไปกระทบกับสิ่ง      หนึ่งสิ่งใดที่อาจอยู่บนแท่นเครื่องหรือไม่
                8. ก่อนเริ่มใช้งานให้ทดลองเปิด-ปิดเครื่องอย่างรวดเร็ว เพื่อตรวจสอบทิศทางการหมุนของแกนหมุนว่าหมุนถูกทิศทางหรือไม่ ถ้าหมุนไม่ถูกทิศทางให้กลับการหมุนของมอเตอร์เพื่อให้แกนหมุนหมุนไปใน   ทิศทางที่ถูกต้องตามความต้องการ
                9. การป้อนชิ้นงานให้ป้อนสวนกับทิศทางการหมุนของหัวตัดเสมอ การป้อนชิ้นงานจะต้องป้อนช้าๆ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
                10. ห้ามดึงชิ้นงานกลับขณะที่เครื่องกำลังทำงาน เพราะชิ้นงานอาจจะกระเด็นออกมาจากตัวเครื่อง ซึ่งนับว่ามีอันตรายอย่างมากต่อผู้ปฏิบัติงาน
                11. ในการทำงานทุกครั้งอย่าให้เครื่องกัดชิ้นงานลึกเกินไปจนเกินกำลังเครื่อง เพราะอาจจะทำความเสียหายให้กับเครื่องและชิ้นงานได้
                12. ก่อนทำความสะอาดแท่นเครื่องทุกครั้ง จะต้องแน่ใจว่าหัวตัดหยุดหมุนแล้ว วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ให้ปิดเมน สวิตช์หรือถอดปลั๊กสายไฟออกเสียก่อน ก็จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย
                13. ห้ามใช้มือในการขจัดเศษไม้ที่อยู่รอบๆ หัวตัดแต่ให้ใช้แปรงแทน การใช้มืออาจพลาดไปโดนคมตัดทำให้ได้รับบาดเจ็บได้
                14. กรณีที่ใช้รั้วเป็นตัวนำกัด จะต้องแน่ใจว่าหลังปรับรั้วได้ล็อกรั้วแน่นดีแล้ว
                15. ขณะปฏิบัติงานจะต้องให้มืออยู่ห่างออกมาจากหัวตัดไม่น้อยกว่า6นิ้ว (150มิลลิเมตร)
                16. จะต้องใช้แหวนครอบป้องกันอันตราย (ring guard) กรณีที่ใช้ปลอกกำหนดความลึก (depth collar) เป็นตัวนำกัด
                17. เมื่อใช้ปลอกกำหนดความลึกเป็นตัวนำกัดอย่าเริ่มกัดที่มุมของชิ้นงาน
                18. หลังเสร็จงานและปิดสวิตช์เครื่องแล้ว ให้รอจนกว่าเครื่องจะหยุดหมุนแล้วจึงค่อยออกจากตัวเครื่อง

การเลือกหัวตัดที่จะใช้ในการกัดชิ้นงาน จะขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบของบัวหรือร่องที่จะกัด เมื่อเลือกหัวตัดได้ตามความต้องการแล้ว ให้ลองทาบเข้ากับหัวไม้ของชิ้นงาน ก็จะทำให้ทราบโดยคร่าวๆ ว่าหัวตัดจะกัดชิ้นงานออกมาในลักษณะในตามที่ต้องการหรือไม่ ลองทาบในตำแหน่งที่แตกต่างกันหลายๆ ตำแหน่งเพื่อกำหนดความลึกในการกัด แต่อย่าลืมว่าความลึกในการกัดจะมีผลกระทบกับรูปร่างที่กัด เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้วให้ใช้ดินสอขีดไปบนชิ้นงานตามขอบของคมตัด ก็จะเป็นแนวทางในการกำหนดความลึกในการกัดของเครื่อง

 

เครื่องขึ้นรูปชิ้นงานส่วนใหญ่แกนหมุนส่วนที่อยู่ใต้แท่นเครื่องส่วนหนึ่งจะถูกบากให้แบนราบเพื่อให้สามารถใช้ประแจล็อกแกนหมุนไม่ให้หมุนได้ หรือบางเครื่องอาจจะทำในลักษณะเป็นหมุดสำหรับล็อกก็ได้ แล้วแต่การออกแบบ ดังนั้น หลังจากล็อกแกนหมุนไม่ให้หมุนแล้วให้ใช้ประแจคลายนอตล็อกที่ล็อกหัวตัดออกแล้วถอดหัวตัดตัวเก่าออกมา จากนั้นทำความสะอาดแกนหมุนและติดตั้งหัวตัดตัวใหม่เข้าแทนที่ อย่าลืมใส่แหวนสปริงกลับที่เดิมด้วยเพราะจะช่วยยึดหัวตัดให้อยู่ในที่
                การติดตั้งหัวตัดถ้าเป็นไปได้ให้ติดตั้งในลักษณะที่กัดทางด้านล่างของชิ้นงาน เพราะจะให้ความปลอดภัยสูงกว่าการให้กัดทางด้านบน เนื่องจากเกลียวของการหมุนที่โผล่ขึ้นมา นับว่ามีอันตรายสูงมาก เพราะอาจจะทำให้เส้นผมหรือเครื่องแต่งกายของผู้ปฏิบัติงานพันเข้าไปในขณะปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายขั้นร้ายแรงได้ ดังนั้น การให้หัวตัดกัดทางด้านล่างของชิ้นงานจึงให้ความปลอดภัยสูงกว่า นอกจากนั้น ยังทำให้กัดได้เรียบกว่าอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชิ้นงานขนาดใหญ่หรือชิ้นงานที่บิดงอ ตัวอย่างเช่น ในการกัดชิ้นงานขนาดใหญ่โดยให้หัวตัดกัดทางด้านบน ถ้าชิ้นงานเกิดการกระดกก็จะทำให้ความลึกในการกัดมากกว่าปกติ แต่ถ้าให้หัวตัดกัดทางด้านล่างก็จะกัดได้ตื้นกว่า การกัดที่ลึกกว่ากำหนดจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่การกัดที่ตื้นกว่ากำหนดนั้นสามารถที่จะแก้ไขได้โดยนำมากัดใหม่
                สำหรับการทำงานที่ไม่ต้องใช้รั้วหรืออุปกรณ์นำกัด ก็ให้ใช้ปลอกกำหนดความลึกเป็นตัวนำกัด แต่ต้องวางในตำแหน่งที่เหมาะสมกับงานที่ทำ เพื่อที่จะควบคุมระดับความลึกในการกัด โดยอาจติดตั้งให้อยู่ในตำแหน่งเหนือหัวตัด ใต้หัวตัด หรือระหว่างหัวตัดก็ได้ บางทีอาจต้องใช้ปลอกกำหนดความลึกเป็นแหวนรองเพื่อเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของหัวตัดเมื่อขึ้นรูปชิ้นงานที่ซับซ้อน ปลอกกำหนดความลึกที่ใช้อาจจะใช้เพียงตัวเดียวหรือหลายตัวก็ได้ตามความจำเป็น ปกติจะใส่ไว้ใต้หัวตัดและใส่เพียงตัวเดียวทางด้านบนของหัวตัด การติดตั้งปลอกกำหนดความลึกใต้หัวตัด จะช่วยปิดคลุมเกลียวของแกนหมุนซึ่งมีอันตรายมากตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

หลังติดตั้งหัวตัดเข้ากับแกนหมุนเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ทำการปรับแกนหมุนเพื่อกำหนดความลึกในการกัดในการปรับแกนหมุนให้คลายนอตล็อกแกนหมุนออกแล้ววางชิ้นงานลงบนแท่นเครื่องให้ด้านหัวไม้ชิ้นที่ได้ทำเครื่องหมายไว้ชนกับด้านราบของหัวตัด จากนั้นปรับหัวตัดขึ้น-ลงจนได้ระดับความลึกที่จะกัดตามความต้องการแล้งจึงล็อกให้แน่น

หลังปรับระดับความลึกในการกัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทดสอบทิศทางการหมุนของแกนหมุน ในขั้นแรกจะต้องแน่ใจว่าไม่มีสิ่งอื่นใดอยู่บนแท่นเครื่องเลย เพราะถ้ามีเมื่อเปิดเครื่องหัวตัดก็อาจจะหมุนเหวี่ยงสิ่งนั้นออกไปทำให้เกิดอันตรายได้ จากนั้นให้ทดลองเปิด-ปิดเครื่องอย่างรวดเร็วและสังเกตทิศทางการหมุนของหัวตัด ปกติหัวตัดจะหมุนเข้าสู่ด้านคมตัด แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ก็ให้กลับทางการหมุนของมอเตอร์ซึ่งสามารถที่จะทำได้ที่สวิตช์ เพราะทิศทางการหมุนของหัวตัดจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการป้อนชิ้นงาน และการป้อนชิ้นงานที่ผิดทิศทางก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายขั้นร้ายแรงได้ด้วยเช่นกัน
การป้อนชิ้นงานให้ป้อนสวนกับทิศทางการหมุนของหัวตัดเสมอ งานส่วนใหญ่จะป้อนชิ้นงานจากขวาไปซ้าย ดังนั้น หัวตัดจึงควรหมุนทวนเข็มนาฬิกา และเมื่อหัวตัวหมุนตามเข็มนาฬิกาก็จะต้องป้อนชิ้นงานจากซ้ายไปขวา  เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน และงานที่ทำออกมาดีที่สุด การกัดก็ควรที่จะทำทางด้านล่างของชิ้นงานเท่านั้นถ้าเป็นไปได้

  1. การขึ้นรูปชิ้นงานแนวตรง
    การกัดขึ้นรูปชิ้นงานในลักษณะนี้จะต้องใช้รั้วช่วยควบคุมการกัด สำหรับการขึ้นรูปของชิ้นงานบางส่วนนั้น จะต้องปรับรั้วทั้งทางด้านขวาและด้านซ้ายให้อยู่ในแนวเดียวกัน ส่วนการขึ้นรูปไปโดยตลอดความยาวของชิ้นงาน รั้วทางด้านขวาก็จะต้องปรับถอยหลังไปในปริมาณที่เท่ากับระดับความลึกของการกัด ดังนั้น ขอบที่ถูกกัดแล้วก็จะเลื่อนไปตามรั้วทางด้านซ้าย เมื่อปรับรั้วได้ที่แล้วล็อกให้แน่น
    เมื่อไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้แผ่นพลาสติกปิดคลุมแกนหมุนเพื่อเพิ่มการป้องกัน เมื่อต้องกัดบัวยาวๆ ให้ใช้ตัวกดชิ้นงาน ช่วยกดชิ้นงานให้แนบกับรั้วและแท่นเครื่อง หรืออาจใช้แท่งไม้ที่ทำขึ้นเองช่วยกันชิ้นงานแทนก็ได้ ก็จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
    หลังเปิดสวิตช์เครื่องให้วางชิ้นงานแนบกับรั้วและแท่นเครื่อง กดชิ้นงานด้วยมือซ้าย ดันป้อนชิ้นงานด้วยมือขวาช้าๆ อย่างสม่ำเสมอเข้าสู่หัวตัดสำหรับคนถนัดขวา และกระทำในลักษณะตรงกันข้ามสำหรับคนถนัดซ้าย การยืนห้ามยืนตรงกับหัวตัดแต่ให้ยืนเยื้องออกไปทางด้านข้างด้านใดด้านหนึ่งตามความถนัด
    การขึ้นรูปชิ้นงานให้ทำทางด้านหัวไม้ก่อน ดังนั้น ขอบที่ฉีกขาดจากการกัดขึ้นรูปทางด้านหัวไม้ก็จะถูกขจัดออกไปเมื่อขอบของชิ้นงานได้รับการขึ้นรูปเรียบร้อยแล้ว
    การขึ้นรูปชิ้นงานแคบๆ ทางด้านหัวไม้ ให้ใช้เกจตัดปากกบช่วยควบคุมการกัด และจะเป็นการดีถ้าใช้รั้วไม้ชั่วคราวร่วมกับเกจตัดปากกบ ก็จะเพิ่มการป้องกันได้ดีขึ้น ยังสามารถช่วยป้องกันหัวไม้ฉีกได้อีกด้วย
    ขณะทำงานจะต้องไม่ให้นิ้วมืออยู่ใกล้หัวตัด วิธีที่ดีที่สุด คือ อย่าขึ้นรูปชิ้นงานที่สั้นกว่า8นิ้ว (200มิลลิเมตร) แต่ถ้าจำเป็นต้องทำก็ให้ทำอุปกรณ์นำกัดชั่วคราวที่ทำด้วยไม้มาช่วยควบคุมการกัดก็ได้
  2. การขึ้นรูปชิ้นงานแนวโค้ง
    การกัดขึ้นรูปชิ้นงานในลักษณะนี้จะต้องใช้ปลอกกำหนดความลึกเป็นตัวควบคุมการกัด กรณีนี้การใช้แหวนครอบป้องกันอันตรายร่วมด้วยก็จะช่วยให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น การติดตั้งปลอกกำหนดความลึกอาจจะติดตั้งให้อยู่ในตำแหน่งเหนือหัวตัด ใต้หัวตัด หรือระหว่างหัวตัดก็ได้ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับรูปแบบของบัวที่จะกัด การใช้ปลอกกำหนดความลึกขนาดใหญ่ก็จะทำให้ชิ้นงานห่างออกมาจากหัวตัดก็จะทำให้กัดได้ตื้น ปลอกกำหนดความลึกขนาดเล็กก็จะทำให้ชิ้นงานใกล้กับหัวตัดก็จะทำให้กัดได้ลึก
    การติดตั้งหมุดนำกัด (starting pin) เข้ากับแท่นเครื่องร่วมกับการใช้ปลอกกำหนดความลึกควบคุมการกัด ก็จะช่วยให้การป้อนชิ้นงานเข้าสู่หัวตัดทำได้ง่ายขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้น ให้ติดตั้งหมุดนำกัดทางด้านขวาของหัวตัดเมื่อหัวตัดหมุนทวนเข็มนาฬิกา และติดตั้งหมุดนำกัดทางด้านซ้ายถ้าหัวตีดหมุนตามเข็มนาฬิกา
    วางชิ้นงานให้แนบกับหมุดนำกัด จากนั้นป้อนชิ้นงานผ่านหัวตัดอย่างช้าๆ อย่างสม่ำเสมอ ใช้แรงกดให้พอเหมาะเพื่อให้ขอบของชิ้นงานเคลื่อนตัวแนบไปกับปลอกกำหนดความลึก จนเสร็จ จะต้องแน่ใจได้ว่าขอบของชิ้นงานส่วนที่ไม่ถูกกัดมีพื้นที่หน้าตัดมากพอที่จะต้านแรงที่เกิดขึ้นจากการกดชิ้นงานเข้ากับปลอกกำหนดความลึก ปกติปลอกกำหนดความลึกจะทำให้ขอบของชิ้นงานเกิดการสึกหรอกว้างต่ำกว่า1/4นิ้ว (6มิลลิเมตร) กรณีที่ชิ้นงานเป็นไม้เนื้ออ่อนการสึกหรอจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมาก จึงอาจจะต้องการพื้นที่รองรับมากกว่า1/4นิ้ว (6มิลลิเมตร)
  3. การขึ้นรูปชิ้นงานแนวโค้งด้วยแม่แบบ
    การขึ้นรูปชิ้นงานแนวโค้ง สามารถทำได้ด้วยการใช้ปลอกกำหนดความลึกร่วมกับแม่แบบ (template) ด้วยเช่นกัน โดยจะใช้แม่แบบเป็นตัวนำกัด ขั้นแรกจะต้องตัดแม่แบบให้มีรูปร่างเป็นไปตามความต้องการ อาจใช้อุปกรณ์นำตัดหรือด้วยเครื่องเลื่อยสายพานตัดก็ได้แล้วขัดขอบให้เรียบ จากนั้นจึงนำแบบดังกล่าวไปยึดติดกับชิ้นงานที่จะกัด การยึดอาจใช้ตะปูหรือสกรูยึดก็ได้ แม่แบบอาจจะอยู่ด้านบนหรือด้านล่างของชิ้นงานก็ได้ จากนั้นชิ้นงานกับแม่แบบที่ยึดโยให้แม่แบบแนบกับปลอกกำหนดความลึกแล้วป้อนชิ้นงานไปตามแม่แบบ อาจจะให้แม่แบบอยู่ด้านบนหรือด้านล่างของชิ้นงานก็ได้ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความลึกของการกัด ปกติถ้าต้องการกัดลึกจะต้องให้แม่แบบอยู่ทางด้านล่างของชิ้นงาน แต่ถ้าต้องการกัดตื้นก็จะให้แม่แบบอยู่ทางด้านบน อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้การให้แม่แบบอยู่ทางด้านบนก็จะให้ความปลอดภัยสูงกว่า
    ในการทำแม่แบบถ้าเป็นไปได้ให้ใช้ไม้เนื้อแข็งหนาประมาณ1/2ถึง3/4นิ้ว (13ถึง19มิลลิเมตร) หรืออาจใช้ไม้อัดแทนก็ได้ เพราะจะทนต่อการสึกหรอได้ดีกว่าไม้เนื้ออ่อนเมื่อต้องเสียดสีกับปลอกกำหนดความลึก ขอบของแม่แบบที่ทำจะต้องเรียบจริงๆ เพราะความบกพร่องใดๆ ที่ขอบของแม่แบบก็จะทำให้ชิ้นงานที่ทำเกิดความบกพร่องเดียวกัน ส่วนในการเตรียมชิ้นงาน ให้ตัดชิ้นงานคร่าวๆ ด้วยเครื่องเลื่อยสายพานให้มีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกันกับแม่แบบ แต่ขนาดต้องใหญ่กว่าเล็กน้อยเพื่อให้มีเนื้องานเพียงพอต่อการกัดเข้ากับแท่นเครื่อง ปรับเลื่อนให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการจะกัดแล้วล็อกให้แน่น จากนั้นจึงทำการกัดด้วยการวางชิ้นงานลงในร่องรูปตัววีในตำแหน่งที่ต้องการจะกัดแล้วกัดโดยหมุนชิ้นงานไปโดยรอบ ก็จะสามารถกัดชิ้นงานที่เป็นแท่งกลมได้ตามความต้องการ
  4. การขึ้นรูปชิ้นงานบนเครื่องสว่านเจาะไม้
    การขึ้นรูปชิ้นงานแบบง่ายๆ สามารถที่จะทำได้ด้วยเครื่องสว่านเจาะไม้ โดยการติดตั้งหัวตัดและอุปกรณ์ควบคุม
 
 
 
 
 
 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Free Web Hosting